การใช้สารสกัดจากพืชเพื่อควบคุมแมลงวันผลไม้

 

Home แมลงวัน Biological Control สารสกัด อ้างอิง Contact me

 

แมลงวันผลไม้

 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bactrocera dorsalis Hendel
ชื่อสามัญ Oriental fruit fly
Family : Tephritidae
Order : Diptera

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

เป็นแมลงขนาดเล็ก ส่วนหัว อก และท้องมีสีน้ำตาลอ่อน ที่ด้านหลังตรงส่วนอกมีแถบสีเหลืองทองใกล้ๆ กับ โคนปีกทั้งสองข้าง ส่วนอกกว้าง 2 มม. ส่วนท้องกว้าง 3 มม. ปีกใส จากปลายปีกข้างหนึ่งไปยังปลายปีกอีกข้างหนึ่งกว้าง 15 มม. หลังการผสมพันธุ์ ตัวเมียจะวางไข่โดยใช้อวัยวะวางไข่แทงลงใต้ผิวผลไม้ ไข่มีลักษณะยาวรี ระยะไข่ 2 - 4 วัน เมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ ตัวหนอนมีสีขาวใส เมื่อโตเต็มที่มีขนาด 8 - 10 มม. ระยะหนอน 7 - 8 วัน เมื่อเข้าดักแด้เริ่มแรกมีสีนวลหรือเหลืองอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ระยะดักแด้ 7 - 9 วัน แล้วจึงออกเป็นตัวเต็มวัย เมื่อตัวเต็มวัยอายุประมาณ 12 - 14 วัน จะเริ่มผสมพันธ์และวางไข่ (รุจินี 2523) ตัวเมียมีการผสมพันธุ์กับตัวผู้หลายครั้ง ตัวเมียตัวหนึ่ง ๆ สามารถวางไข่ได้ประมาณ 1,300 ฟอง วงจรชีวิตใช้เวลา ประมาณ 3 - 4 สัปดาห์

 

วงจรชีวิต
                  ตัวเต็มวัยตัวเมียจะกินอาหารที่เป็นโปรตีน 1 สัปดาห์ เช่น แบคทีเรียที่กำลังเจริญเติบโตในผลไม้และผิวหน้าส่วนต่าง ๆ พืช และน้ำตาล เช่น ใน honeydew
 และน้ำหวานดอกไม้ ก่อนที่จะวางไข่
                 ไข่มีสีขาว รูปร่างเหมือนกล้วย และยาว 1 ม.ม. มันจะวางไข่เป็นกลุ่มในเนื้อของผลไม้  เมื่อเจาะเปลือกผลไม้จะไม่เห็นระยะแรก แต่บริเวณรอบ ๆ นั้นจะเป็น
สีเหลือง
                 ใช้เวลาฟักไข่ 2-3 วันและตัวหนอนจะเจาะรูเข้าไปในเนื้อผลไม้ จำนวนตัวหนอนต่อผลไม้ 1 ผลมีตั้งแต่ 1-12 ตัวหรือบางครั้งก็มากกว่านี้
                 ตัวหนอนจะพัฒนาตัวจนสมบูรณ์ใช้เวลาประมาณ 10 วัน แล้วมันก็จะหยุดที่พื้นดินหาที่เหมาะสมสำหรับเข้าดักแด้ บนพื้นดินมันสามารถเคลื่อนที่ได้ถึง
150 ม.ม. ต่อครั้ง โดยการดีดตัวเองในอากาศ
                 ระยะดักแด้เกิดในดิน ใช้เวลาเพียงแค่ 9 วัน ดักแด้สีน้ำตาล รูปทรงกระบอก  และยาวประมาณ 4-5 ม.ม.
             
 

ลักษณะการทำลาย

ความเสียหายของแมลงวันผลไม้มักจะเกิดขึ้นเมื่อเพศเมียใช้อวัยวะวางไข่ (ovipositor) แทงเข้าไปในผลไม้ ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะอาศัยและชอนไชอยู่ภายใน ทำให้ผลเน่าเสียและร่วงหล่นลงพื้น ตัวหนอนจะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดินแล้วจึงออกเป็นตัวเต็มวัย แมลงวันผลไม้วางไข่ในผลไม้ที่ใกล้สุกและมีเปลือกบาง ในระยะเริ่มแรกจะสังเกตได้ยากอาจพบอาการช้ำบริเวณใต้ผิวเปลือก เมื่อหนอนโตขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ผลเน่าเละและมีน้ำไหลเยิ้มออกทางรูที่หนอนเจาะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ ผลไม้ที่ถูกทำลายนี้มักจะมีโรคและแมลงชนิดอื่น ๆ เข้าทำลายซ้ำ ดังนั้นความเสียหายที่เกิดกับผลผลิตโดยตรงนี้จึงมีมูลค่ามหาศาล ก่อให้เกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจในระดับชาติเป็นอันมาก

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

แมลงวันผลไม้ระบาดในทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย หมู่เกาะแปซิฟิก ไต้หวัน ญี่ปุ่น ปาปัวนิวกินี ฮาวาย ฯลฯ ในประเทศไทยพบการระบาดทั่วทุกภาค ทั้งในเขตป่าและในบ้าน และสามารถอยู่ได้แม้มีระดับความสูงถึง 2,760 เมตร จากระดับน้ำทะเล และยังพบตลอดทั้งปี เนื่องจากมีพืชอาหารมากมาย แต่จะมีปริมาณแมลงวันผลไม้สูงสุดในช่วงเดือนที่มีผลไม้สุกคือ ในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 25 - 28 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 70 - 80 เปอร์เซ็นต์

การป้องกันกำจัด

1. การทำความสะอาดบริเวณแปลงเพาะปลูก แมลงวันผลไม้สามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างรวดเร็วในขณะที่มีพืชอาศัยอยู่มาก โดยการรวบรวมทำลายผลไม้ที่เน่าเสียอันเนื่องมาจากถูกแมลงวันผลไม้เข้าทำลาย สามารถหยุดยั้งการเพิ่มจำนวนของประชากรอย่างรวดเร็วของแมลงได้

2. การห่อผลไม้ เป็นการป้องกันการเข้าไปวางไข่ในผลไม้ที่ง่ายและได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่งอีกทั้งยังเป็นวิธีการที่ปลอดภัยจากการใช้สารฆ่าแมลง การห่อผลไม้นี้ควรจะห่อให้มิดชิดไม่ให้มีรูหรือรอยฉีกขาดเกิดขึ้น มิฉะนั้นแมลงจะเข้าไปวางไข่ได้

3. การควบคุมโดยชีววิธี ในธรรมชาติแล้ว แมลงวันผลไม้มีแปลงศัตรูธรรมชาติอยู่แล้ว มีอัตราการทำลายตั้งแต่ 15 - 53 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากแมลงวันผลไม้มีความเสียหายโดยตรงกับผลิตผลการใช้วิธีนี้จึงน่าจะใช้ร่วมกับวิธีอื่น ๆ ในการลดจำนวนประชากรในแปลง

4. การฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลง การใช้สารฆ่าแมลงนั้นเป็นการลดปริมาณประชากรของแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติได้อย่างรวดเร็วและเห็นผลได้ชัด แต่ในขณะเดียวกันแมลงก็มีการเคลื่อนย้ายจากแหล่งที่ไม่ได้ฉีดพ่นสารฆ่าแมลงเข้าทำลายอีก และต้องพ่นซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงเข้าทำลายซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องสารพิษตกค้างและการทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติ

5. การใช้สารล่อ

ก. การใช้สารล่อแมลงวันผลไม้ตัวผู้

สารเคมีที่ใช้เป็นสารล่อนี้จะสามารถดึงดูดได้เฉพาะแมลงวันผลไม้ตัวผู้เท่านั้น และการใช้สารล่อนั้นจะต้องคำนึงถึงแมลงที่ต้องการให้เข้ามาในกับดักด้วย เพราะว่าแมลงวันผลไม้จะมีความเฉพาะเจาะจงกับสารล่อแต่ละชนิด เช่น เมทธิล ยูจินอล (Methyl Eugenol) ใช้ล่อ Dacus dorsalis, D.umbrosus คิว-ลัวร์ (Cue - Lure) ใช้ล่อ D.cucurbitae, D.tau ลาติ - ลัวร์ (Lati - Lure) ใช้ล่อ D. latifromnเมด - ลัวร์ (Med - Lure) ใช้ล่อ Ceratitis capitata

ข. การใช้เหยื่อโปรตีน

โดยการนำเอาโปรตีน ไฮโดรไลเสท (Protein Hydrolysate) ผสมกับสารฆ่าแมลงมาเป็นเหยื่อล่อแมลงวันผลไม้ โดยใช้โปรตีนไฮโดรไลเสท 200 ซีซี ผสมสารฆ่าแมลง malathion 83 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 70 ซีซี ผสมน้ำ 5 ลิตร พ่นเป็นจุด ๆ เท่านั้น วิธีการนี้ให้ผลที่ดีมาก นอกจากจะประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายในการใช้สารฆ่าแมลงและแรงงานแล้ว ยังเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อม แมลงผสมเกสร รวมทั้งตัวห้ำ ตัวเบียนน้อยลง ที่สำคัญคือสารนี้สามารถดึงดูดได้ทั้งแมลงวันผลไม้ตัวผู้และตัวเมีย ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ได้อย่างดี

6. การทำหมันแมลง จุดมุ่งหมายของวิธีการนี้คือ การกำจัดแมลงให้หมดไปจากพื้นที่ที่ต้องการ ซึ่งจะต้องมีการเลี้ยงแมลงวันผลไม้ให้มีปริมาณมาก แล้วทำหมันแมลงเหล่านี้โดยการฉายรังสีแกมมา จากนั้นจึงนำแมลงที่เป็นหมันนี้ไปปล่อยในธรรมชาติ เพื่อลดปริมาณแมลงในธรรมชาติจนหมดไป แต่การกระทำด้วยวิธีนี้จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงมากและก็ยังมีข้อจำกัดอื่น ๆ อีกที่จะต้องคำนึงถึง เช่นการป้องกันการแพร่ระบาดเข้ามาใหม่ของแมลงและการที่แมลงศัตรูชนิดอื่น จะเพิ่มความสำคัญขึ้นมา

7. การกำจัดหนอนแมลงวันผลไม้ในผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว ส่วนมากระยะของผลไม้ที่เราเก็บเกี่ยวนั้นอยู่ในระยะแก่จัด ซึ่งอาจมีแมลงวันผลไม้วางไข่อยู่ หรือมีหนอนในวัยต้น ๆ ที่ยังไม่เห็นการทำลายอย่างเด่นชัดแฝงตัวอยู่ ฉะนั้นเพื่อเป็นการกำจัดไข่หรือหนอนที่ติดมาในผลไม้ จึงมีวิธีการกำจัดดังนี้

7.1 การรมยา โดยการใช้สารรม (Fumigant) บางตัวเข้ามารมแมลง เช่น เมทิลโบรไมด์ (Methyl Bromide) เป็นต้น

7.2 การใช้รังสี โดยการให้ผลไม้นั้นได้รับการฉายรังสีแกมมา

7.3 การใช้วิธีการอบไอน้ำร้อน เป็นวิธีการที่ใช้อยู่เป็นการค้าในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ฮาวาย ไต้หวัน สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และประเทศไทย

 

 

 
 

 


   
   

 
   
   

Go to Top