การใช้สารสกัดจากพืชเพื่อควบคุมแมลงวันผลไม้

 

Home แมลงวัน Biological Control สารสกัด อ้างอิง Contact me

 

 

 
                     การควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธีเป็นกรรมวิธีที่นำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนำเอาแมลงและสัตว์อื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติมาช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืช วิธีการนี้เป็นวิธีการดั้งเดิมซึ่งมนุษย์มีแนวความคิดที่จะใช้สิ่งที่มีประโยชน์ในธรรมชาติมาช่วยปราบแมลง ความรู้เก่าแก่ที่สุดในการดำเนินงานเริ่มต้นขึ้นมาในประเทศจีน โดยชาวจีนรู้จักนำเอามดตัวห้ำ (predatory ants) มาควบคุมแมลงบางชนิดในสวนส้ม และความรู้ในเรื่องการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมาควบคุมแมลงศัตรูพืชก็กว้างขวางออกไป และนับวันจะมีบทบาทมากขึ้นเมื่อมนุษย์สามารถนำเอาสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเป็นการลดการใช้ยาฆ่าแมลงทำให้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องลดน้อยลง

 

การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีจึงเป็นการใช้ประโยชน์ของศัตรูธรรมชาติที่สำคัญได้แก่ ตัวเบียน (parasites) ตัวห้ำ (predators) และเชื้อโรค (pathogens) ในการที่จะรักษาระดับความหนาแน่นของประชากรของแมลงศัตรูพืชชนิดใดชนิดหนึ่งให้อยู่ต่ำกว่าระดับที่จะทำให้อยู่ต่ำกว่าระดับที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต

ศัตรูธรรมชาติ

ศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืชหมายถึง สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติและเป็นศัตรูของแมลงศัตรูพืช ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 พวกใหญ่ ๆ คือ ตัวเบียน ตัวห้ำ และเชื้อโรค ซึ่งในกลุ่มของตัวเบียนและตัวห้ำนั้นมีทั้งที่เป็นแมลงและไม่ใช่แมลง แต่แมลงเป็นศัตรูพืชธรรมชาติที่สามารถนำมาพัฒนาเพื่อใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความสำเร็จในการควบคุมศัตรูพืชมานานแล้ว

 

แมลงเบียน (parasite) หมายถึง แมลงที่เบียดเบียนเหยื่อ (host) หรือเกาะกินอยู่กับเหยื่อ จนกระทั่งเหยื่อตาย และการเป็นตัวเบียนนั้นจะเป็นเฉพาะในช่วงที่เป็นตัวอ่อนเท่านั้น เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะหากินอิสระ และในช่วงอายุหนึ่ง ๆ ต้องการเหยื่อเพียงตัวเดียวเท่านั้น
ตัวเบียนหรือแมลงเบียนมีหลายประเภท ซึ่งถ้าแบ่งตามความสัมพันธ์กับเหยื่อ จะแบ่งออกได้เป็นแมลงเบียนไข่ (egg-parasite) แมลงเบียนหนอน (larval parasite) แมลงเบียนดักแด้ (pupal parasite) แมลงเบียนตัวเต็มวัย (adult parasite) เป็นต้น ตัวอย่างของแมลงเบียน เช่น แตนเบียนไข่ หนอนกระทู้ผัก และแตนเบียนหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย
แตนเบียนไข่หนอนกระทู้ผัก Chelonus sp. ตัวหนอนของแตนเบียน หนอนกระทู้ผักจะทำลายไข่ของหนอนกระทู้ผัก โดยตัวเต็มวัยของแตนเบียนจะวางไข่ลงไปในไข่ของหนอนกระทู้ผัก (ดังภาพที่ 1) ตัวหนอนแตนเบียนจะอาศัยอยู่ในไข่และหนอนกระทู้ผักจนเป็นตัวเต็มวัย จึงออกมาภายนอก และวางไข่ทำลายไข่ของหนอนกระทู้ผักต่อไป
แตนเบียนหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย Cotesia flavipes แตนเบียนชนิดนี้ตัวเต็มวัยจะวางไข่ลงไปในตัวหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย ตัวหนอนของแตนเบียนจะอาศัยเกาะกินอยู่ภายในลำตัวหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย จนกระทั่งโตเต็มที่จะเจาะผนังหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อยออกมาเข้าดักแด้ และเป็นตัวเต็มวัยต่อไป วันที่หนอนของแตนเบียนเจาะออกมาจากลำตัว หนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย (ดังภาพที่ 2) หนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อยก็จะตายทันที แตนเบียนชนิดนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ

 

แมลงห้ำ (pradator) หมายถึง แมลงที่กินแมลงชนิดอื่น ๆ เป็นอาหาร และการกินนั้นจะกินเหยื่อ (prey) หลายตัว กว่าจะเจริญเติบโตครบวงจรชีวิต การกินจะกินเหยื่อไปเรื่อย ๆ และมักจะไม่จำกัดวัยของเหยื่อคือสามารถทำลายเหยื่อได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตัวห้ำที่เรารู้จักกันดีเช่น ด้วงเต่าชนิดต่าง ๆ (ภาพที่ 3) ตั๊กแตนตำข้าว แมลงปอ มวนตัวห้ำ มวนเพชฌฆาต และมวนตัวห้ำเพลี้ยไฟ (ภาพที่ 4) เป็นต้น
เชื้อโรค (Insect pathogens) หมายถึง เชื้อโรคชนิดต่าง ๆ เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้แมลงตายได้นั้น สามารถนำมาพัฒนาเพื่อการควบคุมแมลงศัตรูพืชได้

ประเภทของการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี

การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี อาจแบ่งออกตามลักษณะการกระทำคือ
1. การควบคุมโดยชีววิธีที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ (Naturally-occurring biological control) เป็นการควบคุมแมลงศัตรูพืชที่เกิดในธรรมชาติ ณ แหล่งใดแหล่งหนึ่งโดยใช้ปัจจัยธรรมชาติ อันได้แก่ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อโรค ที่มีอยู่ในแหล่งนั้นมาเพาะเลี้ยงเพิ่มปริมาณ และนำมาควบคุมแมลงศัตรูพืชในแหล่งที่ศัตรูธรรมชาติเหล่านั้นอยู่ ซึ่งวิธีการนี้รวมไปถึงการจัดการหรือส่งเสริมให้ศัตรูธรรมชาติในแหล่งนั้นมีความสามารถมากขึ้นในการควบคุมแมลงศัตรูพืชในแหล่งเดิมนั้น
2. การควบคุมโดยชีววิธีแบบคลาสสิก (Classical biological control) เป็นการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยมีการนำเอาศัตรูธรรมชาติอันได้แก่ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อโรค จากแหล่งอื่น ๆ หรือจากประเทศหนึ่งไปใช้ในอีกประเทศหนึ่ง โดยมากศัตรูธรรมชาติที่นำมาใช้กันได้ผลคือ ศัตรูธรรมชาติที่มีอยู่ในแหล่งดั้งเดิมของแมลงศัตรูพืช หรือกล่าวโดยสรุป การควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยวิธีการนี้จะมีขั้นตอนของการนำ (Introduction) ศัตรูธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ มาใช้ในอีกแหล่งหนึ่ง
3. การควบคุมโดยชีววิธีแบบประยุกต์ หรือแบบชั่วคราว (Contemporary biological control) เป็นการควบคุมโดยชีววิธี โดยอาศัยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การทำให้แมลงเป็นหมันหรือการดัดแปลงลักษณะทางพันธุกรรมต่าง ๆ เป็นต้น
4. การควบคุมโดยชีววิธีแบบร่วมสมัย (Modern biological control) เป็นการควบคุมแมลงโดยใช้สารเคมีต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ยาฆ่าแมลง แต่มีผลหรือนำมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมแมลงได้เช่น สารพวก hormone, pheromone และสารอื่น ๆ

 


ภาพที่ 1 แตนเบียนไข่หนอนกระทู้ผักกำลังวางไข่ลงในไข่หนอนกระทู้ผัก

 


ภาพที่ 2 แตนเบียนของหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อยกำลังเจาะออกมาจากตัวหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย

 


ภาพที่ 3 ด้วงเต่าตัวห้ำเป็นตัวห้ำกินเพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่เป็นอาหาร

 


ภาพที่ 4 มวนตัวห้ำเพลี้ยไฟกำลังกินเพลี้ยไฟมะเขือ

 

การควบคุมแมลงโดยชีววิธีไม่ว่าจะเป็นแบบที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติหรือแบบคลาสสิก หรืออื่น ๆ ก็ตาม จุดมุ่งหมายของการควบคุมคือ การลดความหนาแน่น หรือระดับพลเมืองของศัตรูพืชให้อยู่ต่ำกว่าระดับเศรษฐกิจ หรือ sub-economic level แต่จะไม่มุ่งในการกำจัดให้หมดสิ้นไป เป็นการลดระดับสมดุลย์ทางธรรมชาติของศัตรูพืชนั้น ๆ ที่เคยอยู่สูงกว่าระดับเศรษฐกิจให้ลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับเศรษฐกิจเท่านั้น

ขั้นตอนการดำเนินงานควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี

ในการดำเนินงานการควบคุมแมลงศัตรูผักโดยชีววิธีนั้น มีขอบเขตหรือขั้นตอนในการดำเนินงานพอสรุปได้ดังนี้
1. การศึกษาเบื้องต้น (Basic study)
2. การนำเข้า (Introduction program)
3. การแผ่ขยายและเพิ่มพูน (Augmentation)
4. การอนุรักษ์ (Conservation)
5. การประเมินผล (Evaluation)

การศึกษาเบื้องต้น (Basic study)

การศึกษาเบื้องต้นจะเป็นการศึกษาเพื่อให้ทราบเรื่องราวทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืชที่จะดำเนินการควบคุมโดยชีววิธี ซึ่งการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืชนั้น จะรวมไปถึงการศึกษาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทางด้านอนุกรมวิธาน (taxonomy) ชีววิทยา(biology) อุปนิสัย (behavior) วิธีเพาะเลี้ยง (mass-rearing method) และโภชนาการ (nutrition) ของแมลงศัตรูพืชนั้น ๆ รวมไปถึงจะต้องศึกษาถึงแมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืชนั้นว่ามีอะไรบ้างที่สามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ ความปลอดภัยต่าง ๆ ในการใช้ศัตรูธรรมชาติชนิดนั้น ๆ ก็จะได้รับการศึกษาโดยละเอียดเช่นกัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดสิ่งผันแปรทำให้เกิดโทษขึ้นมาภายหลังได้ และสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการศึกษาให้ละเอียดคือ เรื่องราวเกี่ยวกับแมลงศัตรูธรรมชาติที่จะนำมาใช้ถึงเรื่องนิเวศวิทยา (Ecology) การเพาะเลี้ยง (Mass-rearing) และอาหารของแมลงศัตรูธรรมชาติที่จะนำมาใช้ เพื่อประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงแมลงศัตรูธรรมชาติต่อไป

การนำศัตรูธรรมชาติเข้ามา (Introduction program)

เมื่อมีการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว แมลงศัตรูพืชบางชนิดจะพบว่าเป็นแมลงที่ถูกนำเข้ามา หรือที่เรียกว่าแมลงต่างถิ่น หรือแมลงต่างด้าว (Exotic pest) ซึ่งแมลงเหล่านี้มักจะสร้างปัญหาอย่างรุนแรงมาก เนื่องจากขาดศัตรูธรรมชาติในแหล่งใหม่ที่เข้าไประบาด ในกรณีเช่นนี้จึงเกิดความจำเป็นในการที่จะต้องนำแมลงศัตรูธรรมชาติจากแหล่งเดิมไปใช้ในแหล่งใหม่ที่แมลงศัตรูผักนั้นระบาด การนำศัตรูธรรมชาติจากแหล่งหนึ่งเข้าไปใช้ในแหล่งที่มีการระบาดดังกล่าวแล้ว เรียกการนำเข้ามา (Introduction) โครงการที่สำคัญ ๆ และดำเนินการควบคุมโดยชีววิธีได้สำเร็จอย่างสมบูรณ์นั้น มักจะมีการนำศัตรูธรรมชาติจากแหล่งอื่นมาใช้เสมอ เช่น การส่งตัวเบียน Apanteies erionotae Wilkinson จากประเทศไทย ไปปราบหนอนม้วนใบกล้วย Pelopidas thrax (L.) ในฮาวายจนประสบความสำเร็จ การควบคุมโดยชีววิธีซึ่งมีการนำศัตรูธรรมชาติเข้ามาใช้คือ การควบคุมโดยชีววิธีแบบคลาสสิก
การนำเข้า (Introduction) จึงนับว่ามีความจำเป็นและสำคัญมากโดยเฉพาะแมลงศัตรูพืชที่มาจากแหล่งอื่น ๆ แต่การที่จะนำเข้ามานั้นจะต้องมีความรู้อย่างเพียงพอจึงจะทำให้การนำเข้าประสบผลสำเร็จ ดังนั้นในการที่จะนำแมลงศัตรูธรรมชาติเข้ามา ควรที่จะมีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้
1. ต้องการทราบถึงชนิดและประเภทของแมลงศัตรูธรรมชาติที่จะนำเข้าว่าเป็นแมลงชนิดใด
2. ต้องศึกษาถึงชีวประวัติ ลักษณะนิสัย รวมไปถึงอาหารของแมลงศัตรูธรรมชาติชนิดนั้น ๆ
3. ต้องทราบวิธีการเพาะเลี้ยงหรือวิธีการที่จะเพิ่มปริมาณของแมลงศัตรูธรรมชาติเหล่านั้นเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะดำเนินการทันทีที่แมลงศัตรูธรรมชาติถูกนำเข้ามาถึง
4. ต้องทราบถึงลักษณะการขยายพันธุ์ของตัวเต็มวัยของแมลงศัตรูธรรมชาติที่นำเข้ามาว่ามีการขยายพันธุ์อย่างไร เพื่อจะได้ดำเนินการให้ถูกต้อง
ความรู้เหล่านี้จะต้องมีอย่างเพียงพอ เพื่อการเตรียมรับแมลงศัตรูธรรมชาติที่จะนำเข้ามา เมื่อมีการนำเข้ามาแล้วขบวนการต่อไป ต้องมีการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเพื่อเพิ่มปริมาณของแมลงศัตรูธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อการปลดปล่อยออกไป ซึ่งขบวนการหรือวิธีการเพาะเลี้ยงนั้นนับว่าต้องมีเทคนิคในการดำเนินงานมากมาย เพื่อจะเพิ่มปริมาณของแมลงศัตรูธรรมชาติให้มากที่สุด และเมื่อสามารถเพาะเลี้ยงแมลงศัตรูธรรมชาติได้มากแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่สำคัญคือ การปลดปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติ ซึ่งการปลดปล่อยแมลง (Release) นั้น มีวิธีการปลดปล่อย 2 วิธีคือ
1. การปลดปล่อยแบบเพาะเลี้ยง (Inoculative Release)
2. การปลดปล่อยแบบท่วมท้น (Inundative Release)
การปลดปล่อยแบบเพาะเลี้ยง (Inoculative Release) หมายถึงการปลดปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติทีละเล็กละน้อยตามจำนวนที่พอจะหาได้ วัตถุประสงค์เพื่อให้แมลงศัตรูธรรมชาตินั้นสามารถแสวงหาแมลงอาศัย (host) ได้ และหวังว่าแมลงศัตรูธรรมชาติที่ปล่อยไปนั้นสามารถจะเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ และสามารถที่จะตั้งรกรากและสถาปนา (establish) ตัวเองขึ้นมาได้ในสภาพแวดล้อมใหม่
การปลดปล่อยแบบท่วมท้น (Inundative Release) หมายถึง การที่สามารถเลี้ยงแมลงศัตรูธรรมชาติได้มาก ๆ แล้วจึงปลดปล่อยออกไป โดยหวังผลว่าแมลงศัตรูธรรมชาติที่ปล่อยไปนั้นจะทำหน้าที่คล้ายยาฆ่าแมลงคือจะไปจัดการหรือปราบแมลงศัตรูพืชให้หมดไปอย่างรวดเร็ว
การแผ่ขยายเพิ่มพูนและอนุรักษ์ (Augmentation & Conservation) หลังการปลดปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติตามที่ได้กล่าวแล้ว จะสำเร็จสมความมุ่งหมายหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับขอบเขตของงานการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธีอีกแบบหนึ่งคือ การแผ่ขยายและเพิ่มพูน (augmentation) และการอนุรักษ์ (conservation) ศัตรูธรรมชาติหลังจากการปล่อยแล้ว เรามีความจำเป็นที่จะต้องแผ่ขยายเพิ่มพูนและอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติเหล่านี้ให้มีความสามารถในการที่จะดำรงชีวิตให้อยู่ในสภาพนิเวศวิทยาใหม่นี้ได้ และพร้อมกันไปก็มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยหาหนทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของแมลงศัตรูธรรมชาติเหล่านี้ให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานด้วย การดำเนินงานในขั้นนี้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้ เหตุผล หลักการ และประสบการณ์ทางนิเวศวิทยาประกอบด้วยเช่น การที่ศัตรูธรรมชาติจะมีการอยู่รอดในฤดูที่ดินฟ้าอากาศไม่อำนวยอย่างไรบ้าง และจะมีทางช่วยอนุรักษ์ได้ด้วยวิธีใด หรือถ้าสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสม มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ศัตรูธรรมชาติเหล่านี้จะสามารถรอดพ้นจากการถูกทำลายอันสืบเนื่องมาจากการใช้สารเคมีอย่างมากเกินไปอย่างไรบ้าง
การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีที่ดำเนินการมาจะสำเร็จได้มากหรือน้อย ก็อยู่ในขั้นตอนของการแผ่ขยายเพิ่มพูนและอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่ปลดปล่อยไป ขั้นตอนในการแผ่ขยาย เพิ่มพูน และอนุรักษ์ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญโดยเฉพาะในกรณีการดำเนินงานควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธีแบบที่เกิดเองในธรรมชาติ เพราะในขั้นตอนการเพิ่มพูนและอนุรักษ์จะช่วยทำให้แมลงศัตรูธรรมชาติที่มีอยู่ในธรรมชาติมีประสิทธิภาพสูงขึ้นในการควบคุมปริมาณของแมลงศัตรูพืช การเพิ่มพูนและการอนุรักษ์ที่กสิกรชาวไร่สามารถดำเนินการได้ และนับว่าเป็นบุคคลที่สำคัญมากที่จะต้องดำเนินการ หรืออาจจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า กสิกรชาวไร่สามารถดำเนินการควบคุมแมลงศัตรูผักโดยชีววิธีแบบเกิดขึ้นเองในธรรมชาติได้ โดยการเพิ่มพูน อนุรักษ์ แมลงศัตรูธรรมชาติที่มีอยู่เดิมให้มากขึ้นเพื่อใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชให้ลดน้อยลง การดำเนินงานเพื่อการแผ่ขยาย เพิ่มพูน และอนุรักษ์ ปริมาณแมลงศัตรูธรรมชาตินั้นสามารถดำเนินการได้เป็นข้อดังนี้

แนวทางอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติ

1. เพิ่มแหล่งอาศัยให้แมลงศัตรูธรรมชาติ แมลงศัตรูธรรมชาตินั้นส่วนมากมักมีขนาดเล็กกว่าแมลงศัตรูพืช ดังนั้นในเวลากลางวันที่มีอากาศร้อน แมลงศัตรูธรรมชาติต้องอาศัยสภาพที่เหมาะสมอันได้แก่สภาพของต้นพืชเตี้ย ๆ เพราะในบริเวณที่ใกล้พื้นดินอากาศจะเหมาะสมมากกว่าในระดับสูง ดังนั้นในสภาพไร่ที่มีวัชพืช หรือมีพืชล้มลุกปลูกสลับอยู่บ้างจะทำให้แมลงศัตรูธรรมชาติมีที่หลบอาศัย
2. เพิ่มปริมาณอาหารให้แก่ตัวเต็มวัยของแมลงศัตรูธรรมชาติ แมลงศัตรูธรรมชาติตัวเต็มวัยโดยเฉพาะพวกตัวเบียนนั้น ตัวเต็มวัยจะหากินอิสระ ตัวเต็มวัยส่วนใหญ่ต้องการน้ำหวานจากดอกไม้ หรือละอองน้ำในอากาศ การให้น้ำแก่พืชผลในกรณีแห้งแล้ง จะนับว่ามีส่วนช่วยให้แมลงศัตรูธรรมชาติได้อาหารด้วย หรือการปล่อยให้พืชที่มีดอกงอกงามอยู่บ้าง เช่น ดอกวัชพืช ก็จะเป็นแหล่งอาหารของแมลงศัตรูธรรมชาติเช่นกัน ดังนั้นการปลูกไม้ดอกตามแหล่งการเกษตรจึงนับว่าจะช่วยเพิ่มอาหารให้แมลงศัตรูธรรมชาติได้มาก
3. ช่วยลดอันตรายที่จะเกิดแก่แมลงศัตรูธรรมชาติ และนับว่าเป็นอันตรายที่ใหญ่หลวงคืออันตรายที่เกิดจากการใช้ยาฆ่าแมลง เพราะแมลงศัตรูธรรมชาติเมื่อเทียบขนาดกับแมลงศัตรูพืชจะมีขนาดแตกต่างกันมาก ละอองยาที่แมลงศัตรูพืชได้รับอาจจะไม่ทำให้แมลงศัตรูพืชตาย แต่ละอองยานั้นจะทำให้แมลงศัตรูธรรมชาติตายได้ เพราะความทนทานต่อยาฆ่าแมลงนั้นมีแตกต่างกันมาก ดังนั้นในแหล่งที่ทำการเกษตรหวังจะได้รับประโยชน์จากแมลงศัตรูธรรมชาติ ควรงดหรือลดการใช้ยาฆ่าแมลง ถ้าจำเป็นต้องใช้ควรจะฉีดยาเป็นจุด ๆ ละเว้นบางแห่งหรือบางแปลงไว้ เพื่อให้แมลงศัตรูธรรมชาติได้ใช้เป็นที่หลบและอาศัย นอกจากนั้นสภาพไร่ที่อากาศแห้งแล้งมีฝุ่นละอองมาก การให้น้ำแบบฉีดเป็นละอองฝอย (Springer) จะช่วยลดปริมาณฝุ่นได้มาก เพราะแมลงศัตรูธรรมชาตินั้น ตัวเต็มวัยหลายชนิดเช่น แตนเบียนไข่ Trichogramma นั้น มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับละอองฝุ่นก็ไม่แตกต่างกันมากนัก การลดละอองฝุ่นจะทำให้แมลงชนิดนี้อยู่รอดได้มาก และน้ำนั้นจะเป็นอาหารที่ดีสำหรับแมลงศัตรูธรรมชาติด้วย
โดยสรุปแล้วการแผ่ขยาย เพิ่มพูน และอนุรักษ์ นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญและกสิกรทุกท่านควรจะดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธีต่อไป

การประเมินผล (Evaluation)

การดำเนินการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี จะต้องมีการประเมินผล (Evaluation) ซึ่งจะเป็นขอบเขตของการดำเนินงานที่สอดแทรกได้ในทุกระยะ ตั้งแต่การศึกษาเบื้องต้น (Basic study) การนำเข้ามา (Introduction) การแผ่ขยายและเพิ่มพูน (Augmentation) และการอนุรักษ์ (Conservation)
ในขั้นสุดท้ายของการประเมินผลคอ การที่จะประเมินค่าหรือผลที่ได้รับจากการดำเนินงาน ซึ่งอาจจะออกมาในรูปของมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือโดยความนิยมของนักวิชาการทางด้านนี้คือ การประเมินผลของแต่ละโครงการที่ได้ดำเนินไปแล้วเกิดผลอย่างไรบ้าง ซึ่งในการประเมินผลขั้นสุดท้ายนี้ แบ่งลักษณะของโครงการออกเป็นดังนี้
1. โครงการที่สำเร็จโดยสมบูรณ์ (Complete)
2. โครงการที่ได้รับผลอย่างเพียงพอ (Sub-stantial)
3. โครงการที่ได้รับผลบางส่วน (Partial)
โครงการที่จัดว่าได้ผลอย่างสมบูรณ์นั้น ปัญหาที่เกิดจากศัตรูพืชนั้นจะต้องหมดไปคือ แมลงศัตรูพืชนั้นไม่สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจอีกต่อไป สำหรับโครงการที่ได้รับผลอย่างเพียงพอ (sub-stantial) จะต้องสามารถลดปริมาณแมลงศัตรูพืชลงไปได้บางส่วน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่หมด และถ้าโครงการใดยังดำเนินการได้เพียงทำให้แมลงศัตรูธรรมชาติสามารถตั้งรกรากในแหล่งศัตรูพืชได้ก็จัดว่าได้ผลบางส่วน (Partial)

 

Go to Top