นักวิจัยไทยดึงสารสำคัญจากเปลือกมังคุดมาเคลือบเส้นใยนาโนตัดเย็บทำผ้าปิดจมูก
ทดสอบพบป้องกันเชื้อวัณโรคได้
100%
เสนอขอรับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกให้ผลิตใช้ระดับโลก
รศ.ดร.พิชญ์ศุภผล นักวิจัยจากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ผ้าปิดจมูกต้านเชื้อวัณโรคจากสารสกัดเปลือกมังคุด เป็นผลงานวิจัยที่ได้ยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจดสิทธิบัตรในสหรัฐ เพื่อรองรับการทำตลาดต่างประเทศในอนาคต พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการเจรจากับภาคเอกชน ถึงโอกาสที่จะผลิตในเชิงพาณิชย์
จากการหารือเบื้องต้นผู้ประกอบการต้องการให้ทดสอบคุณสมบัติคัดกรองเชื้อวัณโรคอย่างละเอียด โดยสามารถระบุขนาดอนุภาคเล็กที่สุดที่สามารถคัดกรองได้ ทั้งนี้ ผ้าปิดจมูกป้องกันเชื้อวัณโรค เป็นผลงานที่ต่อยอดจากงานวิจัยของ รศ.ดร.สุนิย์ สุขสำราญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ซึ่งศึกษาพบคุณสมบัติเด่นของสารสกัดเปลือกมังคุดที่สามารถต้านการกระจายตัวของเชื้อวัณโรค
"เชื้อวัณโรคแพร่ระบาดอย่างมาก ทั้งยังเป็นเชื้อโรคที่ดื้อยาสูง ผ้าปิดจมูกที่มีฤทธิ์ต้านวัณโรคจึงเป็นที่ต้องการอย่างมาก ทั้งผู้ป่วย ญาติและบุคคลที่ทำงานคลุกคลีกับผู้ป่วย คาดว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดได้ในปี 2552 ทีมงานยังเตรียมเสนอเรื่องไปยังองค์การอนามัยโลก (ฮู) ให้พิจารณาสนับสนุนให้เกิดการผลิตและแจกจ่ายไปยังประเทศที่มีการระบาดของเชื้อวัณโรค" นักวิจัยจากจุฬาฯกล่าว
ในการพัฒนาผ้าปิดจมูกดังกล่าวทีมงานนำเส้นใยผสมกับสารสกัดจากเปลือกมังคุดแล้วใช้เทคโนโลยีการปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าสถิตย์ ทำให้ได้เส้นใยขนาด 900 นาโนเมตร ซึ่งเคลือบด้วยสารสกัดเปลือกมังคุด แล้วนำไปทดสอบฤทธิ์การต้านทานเชื้อวัณโรค โดยเลี้ยงเชื้อในอาหารเลี้ยงเชื้อ 3 สัปดาห์ แล้วนำแผ่นเส้นใยผสมสารสกัดเปลือกมังคุดใส่ในน้ำเลี้ยงเชื้อ 3 สัปดาห์
จากการตรวจวิเคราะห์น้ำเลี้ยงเชื้อพบมีเชื้อโรคหลงเหลือไม่ถึง1% ชี้ให้เห็นว่าแผ่นเส้นใยผสมสารสกัดเปลือกมังคุดสามารถต้านเชื้อวัณโรคได้
ผ้าปิดจมูกต้านวัณโรคจากสารสกัดเปลือกมังคุดเป็น 1 ใน 6 งานวิจัยเด่นด้านสิ่งทอที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง รับทุนวิจัยจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่วนงานวิจัยอื่น เช่น เกราะอ่อนกันกระสุนจากเส้นใยประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกล้วยและผ้าไม่ทอยับยั้งเชื้อโรค เป็นต้น
ที่มา
หนังสือพิมพ์คมชัดลึก |