:: Main Menu ::
 About
 Message form Rector
 Final Program/Speakers
 Abstract/Poster Submission
 Registration
 Committee
 Sponsors
 Accommodation
 General Information
 Contact Information
 Mapping
 Exhibition
 Gallery
 
Science Station
Suranaree University of Technology
 



 
 
 
 
 
 

About: Frontier Technology  of Stem cell Therapy
การประชุมเทคโนโลยีระดับแนวหน้าทางด้านเซลล์ต้นกำเนิดบำบัด ครั้งที่ 1
 

เซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) คืออะไร?
เซลล์ต้นกำเนิดเป็นเซลล์ที่ยังไม่ได้ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงเป็นเซลล์ใดๆ เซลล์ต้นกำเนิดมีคุณสมบัติพิเศษในการแบ่งตัวเป็นเซลล์ชนิดต่างๆในร่างกายได้ เช่นเปลี่ยนไปเป็นเซลล์หัวใจ เซลล์ตับ เซลล์สมอง เป็นต้น ด้วยคุณสมบัติของเซลล์ต้นกำเนิดที่มีความสามารถแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีขีดจำกัดและสามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อไปทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งที่จำเพาะได้ ทำให้เซลล์ต้นกำเนิดได้รับความสนใจจากทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์อาทิเช่น นำไปปลูกถ่ายเพื่อทดแทนเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่สูญเสียหรือถูกทำลายไป

ชนิดของเซลล์ต้นกำเนิดและแหล่งที่พบ

เซลล์ต้นกำเนิดแบ่งอย่างกว้างๆได้เป็น 4 ชนิดตามการเจริญเติบโตของมนุษย์  ได้แก่
1. เซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน (Embryonic stem cells) เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่แยกได้จากเซลล์ตัวอ่อนของมนุษย์หลังจากปฏิสนธิได้ 5-7 วัน และยังไม่มีการฝังที่มดลูกเพื่อเจริญเป็นทารกแต่อย่างใด มีความสามารถสูงสุดในการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ชนิดต่างๆของมนุษย์ หรือกล่าวได้ว่าเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน สามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ได้ทุกชนิดของร่างกายนั่นเอง อย่างไรก็ตามการแยกเซลล์ชนิดนี้ในห้องทดลองยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องจริยธรรม ถึงแม้ว่าเซลล์ต้นกำเนิดชนิดนี้ สามารถเตรียมได้ในห้องทดลองและมีแนวโน้มที่จะพัฒนามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้สูงมากในอนาคตก็ตาม
2.  เซลล์ต้นกำเนิดจากทารกในครรภ์ (Embryonic germ cells and Fetal stem cells)  เซลล์ต้นกำเนิดชนิดนี้สามารถแยกได้จากทารกที่เสียชีวิตหลังการแท้งบุตรของมารดาในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งการแยกเซลล์ต้นกำเนิดชนิดนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องจริยธรรมค่อนข้างมาก เซลล์ต้นกำเนิดประเภทนี้สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ต่างๆของร่างกายได้เกือบทุกชนิด
 3. เซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสายสะดือและสายสะดือหลังคลอดทารก (Cord blood stem cells and Umbilical cord stem cells) เซลล์ต้นกำเนิดชนิดนี้สามารถแยกได้จากเลือดในสายสะดือและจากเซลล์ของสายสะดือเอง  ซึ่งมักจะถูกทิ้งไปหลังคลอดบุตร เซลล์ต้นกำเนิดประเภทนี้สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ ต่างๆของร่างกายได้หลายชนิด
4.  เซลล์ต้นกำเนิดจากผู้ใหญ่ (Adult stem cells) เซลล์ต้นกำเนิดชนิดนี้พบและแยกได้จากส่วนต่างๆของร่างกายตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์    การเก็บที่นิยมในปัจจุบันได้แก่ การเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากไขกระดูกและจากกระแสเลือด เพื่อนำมาใช้ในการปลูกถ่ายเพื่อรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น เซลล์ต้นกำเนิดประเภทนี้สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ต่างๆของร่างกายได้หลายชนิด

ความสำคัญของเซลล์ต้นกำเนิด

การนำเซลล์ต้นกำเนิดไปใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะการนำเซลล์ต้นกำเนิดไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยเพื่อทำการรักษาโรค (Stem cell therapy) การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone marrow transplantation) ถูกนำมาใช้ในการปลูกถ่ายอย่างแพร่หลาย และจัดเป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยเป็นระยะเวลาหลายปีโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Hematopoietic stem cells) ในการปลูกถ่าย นอกจากนี้ยังมีเซลล์ต้นกำเนิดชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคและได้มีการศึกษาอย่างแพร่หลาย เช่น เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคมอล (Mesenchymal stem cells) และเซลล์ต้นกำเนิดไขมัน (Fat stem cells) การค้นพบและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดนี้ ช่วยให้งานวิจัยพัฒนาไปได้อย่างก้าวหน้ารวดเร็วในประเทศต่างๆทั่วโลก นักวิจัยทั้งหลายมีเป้าหมายที่จะนำไปใช้รักษาโรคต่างๆมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคที่ยากต่อการรักษาหรือไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน อาทิเช่น โรคอัมพาต โรคที่เกิดจากเซลล์ประสาทถูกทำลายอื่นๆ โรคหัวใจระยะรุนแรง การสร้างผิวหนังใหม่เพื่อทดแทนผิวหนังที่ถูกทำลาย การสร้างเนื้อเยื่อใหม่เพื่อทดแทนเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายหรือที่ต้องตัดทิ้งไป เป็นต้น ดังนั้น ในขณะนี้โลกกำลังก้าวไปสู่ยุคใหม่ของการรักษาโรค โดยการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อหรือเซลล์และฟื้นฟูสภาพเสื่อมด้วยเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ผู้ป่วยและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโรคต่างๆลงได้

วัตถุประสงค์การประชุม

1. เพื่อเป็นแหล่งฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้ทางด้านเซลล์ต้นกำเนิดทางการแพทย์
2. เพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยหรือบุคลากรในเชิงปฏิบัติ

หน่วยงานที่รับผิดชอบ: สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และ สาขาวิชาชีววิทยา/จุลชีววิทยา
  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ระยะเวลาการประชุม: 22 - 26 มีนาคม 2553
  ณ สุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  จังหวัดนครราชสีมา
   

download Brouchure (TH)   download Brouchure (EN) download Poster

© 2009 - 2010 Institute of Science. All rights Reserved.