ชื่อวิทยาศาสตร์                 Garcinia mangostana L.

ชื่อวงศ์                            Guttiferae

ชื่ออังกฤษ                        Mangosteen

ชื่อท้องถิ่น                        มังคุด

            มังคุดเป็นไม้ผลเมืองร้อนที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในประเทศไทย  เป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยเป็นที่นิยมชมชอบของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  จนได้รับนามว่าเป็นราชินีแห่งผลไม้เมืองร้อน  ปัจจุบันมังคุดจัดว่าเป็นผลไม้ที่ตลาดมีความต้องการสูง  เพราะนอกจากตลาดภายในประเทศแล้วยังมีการส่งออกทั้งในรูปของผลสด และแช่แข็ง ทำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละหลายสิบล้านบาท

            มังคุดมีอยู่พันธุ์เดียวเรียกกันว่าเป็นพันธุ์พื้นเมือง  เพราะมังคุดเป็นพืชที่ปลูกด้วยเมล็ด  และเมล็ดมังคุดไม่ได้เกิดจากการผสมเกสร  จึงแทบจะไม่มีโอกาสกลายพันธุ์เลย แม้จะพบว่ามังคุดสายพันธุ์จากเมืองนนท์  มีผลเล็กและเปลือกบาง  มังคุดปักษ์ใต้เปลือกหนา  แต่ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนพอที่จะแยก เป็นพันธุ์ได้
 

การปลูก

           มังคุดเจริญเติบโตได้ในดินเกือบทุกชนิด  แต่ดินที่เหมาะสมควรเป็นดินเหนียวปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงสามารถอุ้มน้ำและระบายน้ำได้ดี  มีความเป็นกรดอ่อน ๆ คือ มีค่าความเป็นกรดด่างของดิน (ค่า pH) ประมาณ 5-6 ส่วนดินที่มีสภาพเป็นด่าง  มังคุดจะเจริญเติบโตได้ช้า (สถาบันวิจัยพืชสวน, 2532) พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกมังคุดควรมีสภาพภูมิอากาศร้อนและชุ่มชื้นคือ มีอุณหภูมิสม่ำเสมออยู่ในช่วง 25-30 องศาเซลเซียส เกือบตลอดปี  มีฝนตกชุกสม่ำเสมอ  ปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,300 มิลลิเมตรต่อปี  และที่สำคัญต้องเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ  เพียงพอที่จะให้กับต้นมังคุดได้ในฤดูแล้ง การนำมังคุดไปปลูกในสภาพอากาศแห้งแล้งและมีอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไปจะพบปัญหาเรื่องใบไหม้ และการเจริญเติบโตช้า

 

การขยายพันธุ์

          สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด เสียบยอด และทาบกิ่ง แต่วิธีที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ คือ การเพาะเมล็ดโดยตรง เพราะสามารถทำได้สะดวกรวดเร็ว ต้นมังคุดที่ได้ไม่กลายพันธุ์ แต่มีข้อเสีย คือ ต้องใช้เวลาประมาณ 7-8 ปีกว่าจะให้ผลผลิต ถ้ามีการบำรุงรักษาเป็นอย่างดีก็อาจเร็วกว่านี้ได้เล็กน้อย ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยวิธีเสียบยอดที่นำพันธุ์ดีจากต้นที่เคยให้ผลมาเป็นวิธีที่ช่วยให้มังคุดให้ผลผลิตได้เร็วขึ้น

          การเพาะเมล็ด เมล็ดมังคุดที่นำมาเพาะควรได้จากผลมังคุดที่แก่จัดและเป็นผลที่ยังสดอยู่เพราะ จะงอกได้ดีกว่า เลือกเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ล้างเนื้อและเส้นใยออกให้สะอาดแล้วรีบนำไปเพาะ แต่ถ้าไม่สามารถ เพาะได้ทันที ให้ผึ่งเมล็ดที่ทำความสะอาดแล้วให้แห้ง (ผึ่งลม) เก็บเมล็ดไว้ในถุงพลาสติก แช่ตู้เย็นไว้จะเก็บไว้ ได้นานขึ้น การเพาะเมล็ดสามารถเพาะลงในถุงพลาสติกได้โดยตรง แต่ถ้าทำในปริมาณมาก ๆ ก็ควรเพาะใน แปลงเพาะชำหรือกระบะเพาะชำ สำหรับวัสดุเพาะชำจะใช้ขี้เถ้าแกลบล้วน ๆ ขี้เถ้าแกลบผสมทรายหรือดินร่วน ผสมทรายก็ได้ แปลงเพาะชำต้องมีวัสดุพรางแสง และรดน้ำให้วัสดุเพาะมีความชื้นอยู่เสมอ หลังจากเพาะจะ ใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน เมล็ดจึงเริ่มงอกจากนั้นก็คัดเลือกต้นกล้าที่มีความสมบูรณ์ย้ายจากแปลงเพาะไป ปลูกในถุงบรรจุดินผสมปุ๋ยคอก ใช้ถุงขนาด 4-5 นิ้ว การย้ายควรทำในช่วงที่ต้นกล้ามีอายุไม่เกิน 1 เดือน เพราะ ระบบรากยังไม่แผ่กระจาย ต้นกล้าจะไม่กระทบกระเทือนมาก แต่ต้องระวังลำต้นหักเพราะยังอ่อนอยู่ ต้องมีการ พรางแสงและให้น้ำกับต้นกล้าเช่นเคย เมื่อต้นโตขึ้นก็เปลี่ยนเป็นถุงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น การเปลี่ยนถุงต้อง ระมัดระวังอย่าให้กระทบกระเทือนระบบรากเดิม ควรเปลี่ยนถุงบ่อย ๆ สัก 5-6 เดือนต่อครั้งเพราะจะทำให้มังคุดมีการเจริญเติบโต ดีขึ้น และไม่มีปัญหาเรื่องรากขดงอก้นถุง เมื่อมังคุดมีอายุประมาณ 2 ปี มีความสูงราว 30-35 เซนติเมตร มียอด 1-2 ฉัตร ก็พร้อมที่จะปลูกในแปลงได้

          การเสียบยอด ต้นตอที่ใช้ในการเสียบยอด นอกจากจะใช้ต้นตอจากการเพาะเมล็ดมังคุดแล้ว อาจใช้ต้นตอจากพืชชนิดอื่นที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน เช่น ชะมวง มะพูดป่า พะวา รง ซึ่งใช้ได้ช่นกัน ต้นตอที่เหมาะสม ควรมีอายุประมาณ 2 ปี หรือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร  ยอดพันธุ์ดีต้องเป็นยอดจากต้นที่สมบูรณ์ให้ผลผลิตมาแล้ว และควรเป็นยอดจาก กิ่งที่ชี้ตั้งขึ้น เพื่อให้ได้ต้นมังคุดที่มีทรงต้นตรงสวยงาม รวมทั้งจะต้องเป็นยอดที่มีขนาดใกล้เคียงกับขนาด ของต้นตอ

 

โรคแมลงและการป้องกันกำจัด

        อาการผิดปกติที่เกิดกับส่วนต่าง ๆ ของมังคุดอาจจะมีสาเหตุมาจากการทำลาย ของโรค แมลงหรืออาจจะเกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ซึ่งมีผลโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพของ ผลผลิต โรคแมลงและอาการผิดปกติที่สำคัญได้แก่

1. หนอนชอนใบ เป็นหนอนของผีเสื้อชนิดหนึ่ง ตัวหนอนมีขนาดเล็กยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ตัวสีขาวนวลปนแดง จะกินอยู่ใต้ผิวใบทั้งสองด้านและเห็นเป็นทางสีขาวคดเคี้ยวไปมา ใบที่ถูกทำลาย จะมีรูปร่างบิดเบี้ยวใบไม่เจริญและมีขนาดเล็ก หนอนชนิดนี้จะทำลายเฉพาะใบอ่อนเท่านั้น รวมทั้งต้นกล้ามังคุด ที่อยู่ในเรือนเพาะชำ มักจะพบการทำลายของหนอนชอนใบด้วย

การป้องกันกำจัด ในระยะที่มังคุดเริ่มแตกใบอ่อน ถ้าพบการทำลายให้พ่นด้วย สารป้องกันกำจัดแมลงในกลุ่มคาร์บาริลทุก 7 วัน เมื่อใบแก่แล้วก็หยุดพ่น

2. หนอนกินใบ เป็นหนอนของผีเสื้อชนิดหนึ่งขนาดของตัวหนอนยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร สีของตัวหนอนเหมือนกับสีของใบอ่อนมังคุด (เขียวแกมเหลือง) ถ้าหากไม่สังเกตดี ๆ จะมองไม่เห็น ตัวหนอนจะกัดกินแต่ใบอ่อนเท่านั้น ลักษณะการทำลายทำให้ใบเว้า ๆ แหว่งๆ เหลือแต่ก้านใบทำให้มังคุดขาด ความสมบูรณ์

การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูตามใบมังคุด หากพบการทำลายให้หาเศษหญ้าแห้ง กองรอบโคนต้นมังคุด พอตอนสาย ๆ ให้รื้อกองหญ้าทำลายหนอนหรือให้พ่นสารประเภทดูดซึม เช่น คาร์บาริล ในอัตรา 60 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ทุก ๆ 5-7 วัน

3. เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็ก เคลื่อนไหวตัวได้รวดเร็วระบาดในช่วงที่อากาศ แห้งแล้งติดต่อกันนาน ๆ โดยทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ของศัตรูชนิดนี้จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนดอกอ่อน และผลอ่อนของมังคุด ถ้าหากเป็นยอดอ่อนจะทำให้ยอดแห้ง สำหรับดอกอ่อนและผลอ่อนจะทำให้ดอกร่วง และผลมีรอยสีน้ำตาลกร้านมียางไหลและจะทำให้ผลร่วงได้ ศัตรูชนิดนี้นับเป็นศัตรูสำคัญที่มีผลกระทบในการ ส่งออกมังคุดเป็นอย่างมาก

การป้องกันกำจัด เมื่อมังคุดเริ่มติดดอกให้หมั่นตรวจดูดอกมังคุด ถ้าหากพบว่ามีเพลี้ยไฟอยู่ตาม โคนก้านดอกหรือตามกลีบดอกให้ฉีดพ่นสารเคมีประเภทดูดซึม เช่น สารโมโนโครโตฟอส เมทธิโอคาร์บอน หรือ คาร์โบซัลแฟน หลังพ่นสารเคมีแล้ว 5-7 วัน ให้ตรวจดูอีก หากยังพบอยู่ให้พ่นซ้ำ การป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ ให้ได้ผลดี ควรทำพร้อมกันกับสวนข้างเคียงเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายของแมลง

4. ไรแดง เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น ตัวโตเต็มวัยมีรูป ร่างกลมหรือรูปไข่ มีสีแดง เคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว มักอยู่รวมเป็นกลุ่มและระบาดควบคู่ไปกับเพลี้ยไฟ โดยไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ดอกและผลอ่อน ทำให้ดอกและผลอ่อนแห้งร่วงหล่นไปหรือทำให้ผลไม่เจริญ เปลือกมีผิดตกกระ เป็นขุย เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเช่นเดียวกันกับเพลี้ยไฟ

การป้องกันและกำจัด ให้หมั่นตรวจดูในระยะที่มังคุดกำลังออกดอกและติดผล ถ้าพบให้พ่นด้วย กำมะถันผงหรือสารไดโคโพลทุก 7-10 วัน

5. โรคใบจุด เกิดจากการทำลายของเชื้อรา เชื้อราเข้าทำลายใบเกิดเป็น รอยแผลไหม้สีน้ำตาลมีขอบแผลสีเหลือง รูปร่างของแผลไม่แน่นอน ทำให้ใบเสียเนื้อที่ในการสังเคราะห์แสง ความสมบูรณ์ของต้นลดลง และถ้าระบาดรุนแรงใบจะแห้งทั้งใบและร่วงหล่น ทำให้ผลมังคุดไม่มีใบปกคลุม ผิวของผลมังคุดจะกร้านแดดไม่สวย

การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ แมนโคเซบ คาร์เบนดาซิม หรือเบนโนมิล เป็นต้น

6. โรคใบแห้งและขอบใบแห้ง เกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม คือ แสงแดดจัด ความชื้นต่ำ ทำให้น้ำระเหยออกจากขอบใบมาก จนกระทั่งขอบใบแห้ง ทำให้มังคุดเจริญเติบโตช้า ต้นขาดความสมบูรณ์ให้ผลผลิตน้อย จึงควรหลีกเลี่ยงการปลูกมังคุดในสภาพที่มีภูมิอากาศไม่เหมาะสม และโดยทั่วไปก็มักจะพบอาการใบไหม้ขอบใบแห้งในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งตรงกับช่วงที่ผลมังคุดกำลังออกดอก ติดผลพอดี เมื่อใบมังคุดขาดความสมบูรณ์จะทำให้ผลมังคุดขาดความสมบูรณ์ตามไปได้

การป้องกันกำจัด ควรดูแลให้ต้นมังคุดได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอและพอเพียง

7. อาการยางไหลที่ผิว จะพบได้ทั้งระยะผลอ่อนและผลแก่

- ยางไหลระยะผลอ่อน เกิดจากเพลี้ยไฟดูดกินน้ำเลี้ยงระยะผลอ่อน จะทำให้เกิด ยางไหลออกมาจากผิวเปลือกเป็นสีเหลือง ทำให้ผลมีการเจริญเติบโตช้า การป้องกันกำจัดอาการยางไหลของ ผลอ่อน โดยการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ ตั้งแต่มังคุดเริ่มออกดอก

- ยางไหลระยะผลขนาดใหญ่ จะพบอาการยางไหลในขณะผลใกล้แก่ แต่ยังมีสีเขียวอยู่ ยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน สันนิษฐานว่าเกิดจากมังคุดได้รับน้ำมากเกินไป ทำให้ปริมาณน้ำยางในผลมีมาก และปะทุออกมาเอง หรืออาจมีแมลงไปทำให้เกิดบาดแผลทำให้ยางไหลออกมาได้ ซึ่งภายหลังจากการเก็บเกี่ยว ก็สามารถขูดยางเหล่านี้ออกได้ โดยผลไม่เสียหายแต่จะสิ้นเปลืองเวลาและแรงงาน

8. อาการเนื้อแก้ว เป็นอาการของเนื้อมังคุดที่มีสีขาวใสในบางกลีบ โดยมากจะเป็นกับกลีบที่มีขนาดใหญ่ ในบางครั้งก็เป็นเนื้อแก้วทั้งผล อาการเนื้อแก้วนี้จะสังเกตได้จากลักษณะภายนอก โดย พบว่าผลที่มีรอยร้าวอยู่ที่ผิว มักจะมีอาการเนื้อแก้วด้วย แต่ในบางครั้งลักษณะภายนอกเป็นปกติ เมื่อผ่าดูก็อาจพบอาการเนื้อแก้วได้เช่นกัน

        อาการยางไหลภายในผล พบยางสีเหลืองอยู่ตรงกลางระหว่างกลีบผล มักจะพบคู่กับอาการเนื้อแก้ว หรืออาจจะพบแต่อาการยางไหลเพียงอย่างเดียวก็ได้

        อาการเนื้อแก้วและยางไหลภายในผล ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่จะพบมากในมังคุดที่ขาดการดูแลรักษา เช่น ได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ หรือขาดน้ำเป็นเวลานาน ๆ เมื่อได้รับน้ำจากฝนที่ตกชุกในช่วงผลใกล้แก่ ผลมังคุดได้รับน้ำอย่างกะทันหัน เปลือกขยายตัวไม่ทันเกิดรอยร้าว ท่อน้ำยางภายในผล ก็ได้รับน้ำมากเช่นกัน เกิดแรงดันมากจึงปะทุแตก มีน้ำยางไหลออกมา นอกจากนั้นแล้ว การบำรุงรักษาไม่ถูกต้อง มังคุดได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการเจริญเติบโต ผิดปกติเกิดเป็นเนื้อแก้วได้

 

การเก็บเกี่ยว

            โดยทั่วไปมังคุดเริ่มออกดอกเมื่อปลูกไปได้ประมาณ 7-8 ปี และได้ผลผลิตเต็มที่เมื่อมีอายุประมาณ 12 ปีขึ้นไป การออกดอกของมังคุดจะไม่ออกพร้อมกันในทีเดียวจะทยอยออกอยู่นานราว 40 วัน เป็นผลให้ การเก็บเกี่ยวมังคุดต้องทยอยเก็บเกี่ยวไปด้วยเช่นกัน

            หลังจากมังคุดเริ่มติดผลประมาณ 11-12 สัปดาห์ก็ทยอยเก็บเกี่ยวได้ การที่จะพิจารณาเก็บเกี่ยวมังคุด ในระยะไหน ก็ขึ้นอยู่กับระยะทางในการขนส่ง โดยคาดการณ์ให้ผลมังคุดสุก หรือมีสีม่วงแดงพอดี เมื่อถึงผู้บริโภคหรือถึงโรงงานแช่แข็ง แนะนำให้เก็บเกี่ยวมังคุดโดยสังเกตจากสีของเปลือก โดยการเก็บเกี่ยวเมื่อเปลือกมังคุดเริ่มมีสายเลือดหรือเกิดจุดแต้มหรือรอยประสีชมพูเข้ม (ภาพประกอบ) แต่ ระยะนี้ยังไม่เหมาะต่อการบริโภคเพราะเนื้อแยกตัวจากเปลือกได้ยาก และยังมียางสีเหลืองอยู่ภายในเปลือก จากระยะนี้ ใช้เวลาประมาณ 4 วัน เปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดง ซึ่งเป็นระยะที่ใช้บริโภคได้ และหลังจากนั้นอีก 1 วัน ผลมังคุดก็จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้ม หรือม่วงดำ ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมต่อการบริโภคที่สุด

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

 

ราก : เป็นระบบรากแก้ว มีจำนวนรากแขนงไม่มาก และที่บริเวณปลายรากมีขนรากน้อย

 

ลำต้น : ลำต้นตรง เปลือกภายนอกมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ภาคในเปลือกประกอบไปด้วยท่อน้ำยางมีลักษณะสีเหลือง

                

ใบ : ใบมีรูปยาวรี มีความยาวประมาณ 9-25 ซม. กว้างประมาณ 4.5-10 ซม. ด้านบนมีลักษณะเป็นมันสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างสีเขียวปนเหลือง แผ่นใบโค้งเล็กน้อย มีตาข้างอยู่บริเวณซอกใบ และมีตายอดอยู่บริเวณซอกใบคู่สุดท้าย

                                                                      

ดอก : ดอกตัวผู้จะเป็นสีเหลืองอมแดงหรือม่วง ส่วนดอกตัวเมียจะเป็นสีชมพูเป็นแบบเดี่ยวและบางสภาพอาจเป็นดอกกลุ่ม ซึ่งดอกจะปรากฏที่บริเวณปลายยอดของกิ่งแขนง   ที่มีช่อดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกันดอกจัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศแต่เกสรตัวผู้จะเป็นหมัน ดอกมังคุดประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 4 กลีบ มีกลีบดอกค่อนข้างหนา 4 กลีบดอก เกสรอยู่ที่ฐานรอบๆ ของรังไข่

                                

ผล : เป็นแบบเบอร์รี่ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.4-7.5 ซม. มีเปลือกหนา 6-10 ซม. เนื้อสีขาวขุ่นลักษณะของผลอ่อนเปลือกนอกจะมีสีเขียวปนเหลือง มียางสีเหลืองอยู่ภายใน ผลหนึ่งๆ จะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-6 เมล็ด เมล็ดมีความยาวประมาณ 2.5 ซม. และกว้างประมาณ 1.6 ซม.

                               

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ 

            เปลือกผลมังคุดมีสาร"แทนนิน"เป็นจำนวนมาก มีฤทธิ์แก้อาการ ท้องเดินได้ดี สารชนิดนี้ในเปลือกมังคุดออกฤทธิ์สมานแผลได้ดีมาก ทั้งยังฆ่าเชื่อแบคทีเรียได้อีกด้วย  โดยเฉพาะเชื้อที่ทำให้เกิดหนอง และมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบลงได้ดี นอกจากนี้ในเปลือกสุกยังมีอนุพันธ์ของสารพอลิไฮดรอกซี-แซนโทน (polyhydroxy-xantone)  ที่ชื่อ แมงโกสติน (mangostin)  ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลากเกลื้อน  และอนุพันธ์ของแซนโทนชื่อ  แมงโกสติน-อี (mangostin-e), 6 ได-ออร์โธ-กลูโคไซด์ (6-di-O-glucoside)  มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางและช่วยเพิ่มความดันเลือดอีกด้วย  ซึ่งกองวิจัยทางแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่าควรระวังเรื่องขนานของการใช้ เพราะสารที่เปลือกมังคุดมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางและเพิ่มความดันเลือดได้

 

คุณค่าทางโภชนาการ : 100 กรัม

Water 80.9 g
Energy 0.5 g
Fat 0.1 g
Carbohydrate 18.4 g
Dietary fiber 1.7 g
Ash 0.2 g
Calcium 9 mg
Phosphorus 14 mg
Iron 0.5 mg
copper 0.11 mg
Zinc 0.1 mg
B1(Thiamine) 0.09 mg
B2(Riboflavin) 0.06 mg
Niacin 0.1 mg
C 2 m

                                                        

                                    ธรรมชาติของมังคุด       

       งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 

                                                                                                        สารสกัดจากมังคุด  

                    ผลิตภัณฑ์จากมังคุด   

          Web site ที่เกี่ยวข้อง