พรรณไม้ มทส
FLORA of SUT
เสนอความเห็น

โครงการวิจัยพรรณไม้ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

1. ชื่อโครงการ
พรรณไม้ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
Flora of Suranaree University of Technology Campus
2. หน่วยงานที่รับผิดชอบงานวิจัย
สาขาวิชาชีววิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000
โทรศัพท์ (044) 224187 โทรสาร (044) 224185
3. คณะผู้วิจัย
3.1 รองศาสตราจารย์ ดร.อรรณพ วราอัศวปติ หัวหน้าโครงการวิจัย
3.2 รองศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ ธรรมถาวร
3.3 ดร.พอล เจ โกรดิ
4. โครงการนี้อาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่
คือ โครงการพรรณไม้ในประเทศไทย (Flora of Thailand) ของกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานร่วมกันโดยตรง
5. โครงการนี้เป็นงานวิจัยที่ทำโดยหน่วยงานเดียว
แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก หอพรรณไม้ของกรมป่าไม้
6. ประเภทของงานวิจัย : การวิจัยพื้นฐาน
7. สาขาวิชาที่ทำการวิจัย : เกษตรศาสตร์และชีววิทยา
8. คำสำคัญของเรื่องที่ทำการวิจัย (Keywords)
พรรณไม้ (flora) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (Suranaree University of Technology) พืชมี ดอก (flowering plants) พฤกษศาสตร์ (botany) ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity)
9. ความสำคัญ ที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย และ การทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง
ประเทศในเขตร้อน เช่น ประเทศไทย ความหลากหลายทางชีวภาพมีสูงมาก รวมทั้งพืชพรรณไม้ ที่มี เนื้อเยื่อลำเลียง ซึ่งมีความใกล้ชิดกับมนุษย์มากเป็นพิเศษ นับเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าของประเทศไทย แต่ การศึกษาวิจัยค้นคว้าหาผลประโยชน์จากทรัพยากรพรรณไม้เหล่านี้ ยังคงมีน้อยจากการตรวจสอบ พรรณไม้จาก หนังสือ Flora of Thailand ที่ได้พิมพ์เผยแพร่ออกมานั้น ปรากฏว่ายังไม่สมบูรณ์อีกมาก มีการคาดคะเนว่า พรรณพฤกษชาติของประเทศไทยเรานั้นมีทั้งหมดประมาณ 15,000 ชนิด แต่ได้ทำการ ศึกษาไปแล้วเพียงประมาณ 3,000 ชนิดเท่านั้น คิดเป็นเปอร์เซนต์แล้วได้ศึกษาไปเพียง 20% ฉนั้น จึงยังเหลือ พรรณพฤกษชาติที่ยังไม่ได้ศึกษาถึง 80% เมื่อการศึกษาพืชพรรณไม้ยังไม่สมบูรณ์เช่นนี้ ก็จะยังไม่สามารถแก้ ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศไทยอีกหลายประการได้เช่น จะยังไม่ทราบถึงศักยภาพของพืชสมุนไพร พืชเศรษฐกิจ แก้ไขรวมถึงการใช้ประโยชน์ของพืชทางด้านนิเวศวิทยา ทางเคมี สรีรวิทยา ป่าไม้ และการเกษตร การที่จะเข้าไป อนุรักษืหรือสงวนก็จะชงักและเกิดปัญหา เนื่องจากยังขาดความรู้พื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบระดับ ชนิดของพืชนั้น ๆ
การศึกษาพรรณไม้ในประเทศไทย ขณะนี้เป็นไป 2 แบบ ด้วยกันคือ
1. เป็นการศึกษาตามตระกูลของพืช ครอบคลุมทุก ๆ พื้นที่ของประเทศไทยซึ่งผลการศึกษาได้พิมพ์เผย แพร่ใน Flora of Thailand volume 1-6 (1963 - 1996)
2. เป็นการศึกษาพรรณไม้ทุกชนิดในพื้นที่ที่กำหนด เช่น การศึกษาพรรณไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติ (Maxwell ,1988 , 1989) พรรณไม้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (Thammathaworn and Chantaranothai, 1996) พรรณไม้วิทยาเขตศาลยา มหาวิทยาลัยมหิดล (Grote ,1996) และ พรรณไม้ในอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม (Suddee ,1996)เป็นต้น
วิธีการศึกษาพรรณไม้ตามโครงการนี้จะทำตามแบบที่ 2 คือ กำหนดพื้นที่เพื่อศึกษาพรรณไม้นั้น โดย ศึกษาพรรณไม้ที่มีอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 7,000 ไร่พื้นที่นี้เป็น ป่ารกร้างที่ถูกทำลายไป จากการสำรวจเบื้องต้นก็พบว่า ยังมีต้นไม้ขนาดเล็กหลงเหลืออยู่และจะเจริญเป็นป่าต่อ ไปหากไม่ถูกรบกวน และทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก็มีนโยบายที่จะพัฒนาส่วนที่เป็นป่านี้ บางส่วนให้ คงสภาพตามธรรมชาติในโครงการเขียวสะอาดและโครงการสวนพฤกษศาสตร์
10. วัตถุประสงค์ของโครงการ
10.1 เพื่อเก็บตัวอย่างพรรณไม้ในเขตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมาตรวจวินิจฉัยหาชื่อ จัดทำและจัด เก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้ง (Herbarium) ไว้ใช้อ้างอิงต่อไป
10.2 จัดทำฐานข้อมูลพรรณไม้ ในเขตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ที่ สามารถแลกเปลี่ยนและสืบค้นได้ผ่าน Internet
10.3 จัดทำรายงานประกอบภาพพรรณไม้ในเขตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทั้งหมดที่เก็บตัวอย่างได้
11. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
11.1 ทราบชื่อพรรณไม้ และมีตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีที่สามารถใช้ อ้าง อิง และใช้ประกอบการศึกษาวิจัยต่อไป
11.2 มีฐานข้อมูลพรรณไม้ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่สามารถแลกเปลี่ยนและสืบค้นได้โดยใช้ ระบบคอมพิวเตอร์
11.3 มีรายงานประกอบภาพพรรณไม้ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่สามารถจะใช้ประกอบการ จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ต่อไปได้
11.4 ตัวอย่างพรรณไม้และข้อมูลที่ได้ จะเป็นข้อมูลแสดงความหลากหลายทางชีวภาพ ของพรรณพืชของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และเป็นส่วนประกอบของข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ของประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต่อการวางแผนเพื่อการบริหาร และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีสุรนารี และของประเทศได้อย่างเหมาะสมต่อไป
อีกทั้งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้สามารถศึกษาการเปลี่ยนแปลงชนิดของพรรณไม้ต่าง ๆ ใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีต่อไปในอนาคตได้
12. หน่วยงานที่นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์
12.1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- สาขาวิชาชีววิทยา และสาขาวิชาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์
- สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และ เทคโนธานี
- โครงการเขียวสะอาด และโครงการสวนพฤกษศาสตร์
12.2 กองประสานการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม
กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
(โครงการการจัดการข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ)
12.3 หอพรรณไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
13. การวิจัยที่เกี่ยวข้อง และ คล้ายคลึงกับงานวิจัยที่ทำ
ดังได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า โครงการวิจัยนี้อาจจะถือได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพรรณไม้ในประเทศไทย (Flora of Thailand) ของกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดูข้อ. 4) ซึ่งเริ่มตี พิมพ์ผลงานวิจัยมาตั้งแต่ปี 1963 จนถึงเล่มล่าสุด เมื่อปี 1996 นี้ (Larsen and Hu, 1996) เป็นเวลามากกว่า 30 ปี แต่ สามารถศึกษาพรรณไม้ได้ราว 20% ของที่คาดว่ามีอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น จากการประชุมเพื่อสรุปความก้าว หน้าของโครงการเมื่อเดือนกันยายน 2539 ที่จังหวัดภูเก็ต คณะทำงานโครงการนี้คาดว่า อาจจะต้องใช้เวลาอีกราว 30 ปี งานวิจัยและตีพิมพ์หนังสือ Flora of Thailand จึงจะเสร็จ การที่ต้องใช้เวลานานมากเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้น เฉพาะสำหรับประเทศไทยเท่านั้น การศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำ Flora of Malesiana ก็ทำได้เพียง 20% ของจำนวนพืช ประมาณ 25,000 ชนิด โดยใช้เวลาถึง 40 ปี (Wirawan, 1989) นั่นก็คือ จะต้องใช้เวลาอีก 160 ปีจึงจะเสร็จ เช่นเดียว กันกับการทำ Flora of Vereruz ใช้เวลาถึง 20 ปี สามารถตีพิมพ์ได้เพียง 62 สกุล จาก 243 สกุล ที่ทราบว่ามีอยู่ใน รัฐนี้ หรือราว 25% นั่นก็แปลว่าจะเสร็จในอีก 60 ปีข้างหน้า ถ้างานยังคงก้าวหน้าต่อไปในลักษณะเดิม Gomez- Pompa and Plummer (1993) ได้เสนอแนวทาง การเร่งรัดความก้าวหน้าโดยการทำระบบฐานข้อมูลด้วย คอมพิวเตอร์ และการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางทั่วโลก ซึ่งเป็นแนวทางที่โครงการ วิจัยนี้ตั้งใจจะทำ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และจัดให้อยู่ในรูปที่จะเผยแพร่แลกเปลี่ยน ได้ในระบบ Internet
โครงการวิจัยนี้ได้มีการสำรวจเบื้องต้นมาพอสมควรแล้ว (Thammathaworn, Wara-aswapati and Grote, 1996) และเป็นแนวการศึกษาวิจัยในรูปแบบเดียวกับอีกหลายโครงการในลักษณะเดียวกันทั้งที่ทำเสร็จไปแล้ว (Maxwell,1988,1989; Sawyer and Chermsirivathana, 1969; Plengklai and Niyomdham, 1991) และกำลังดำเนิน การอยู่ (Thammathaworn and Chantaranothai, 1996; LaFrankie and Bunyavejechewin, 1996; Grote, 1996; Suddee and Na Songkhla, 1996) ซึ่งจะมีการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือสนับสนุนในการทำวิจัยกันต่อไป เพื่อให้ ได้ประโยชน์สูงสุดจากการศึกษาวิจัยนี้
โครงการ Flora of Thailand ก่อตั้งขึ้นจากการสำรวจพรรณไม้ร่วมกันระหว่าง ไทย - เดนมาร์ก ในปี 2501 - 2502 และดำเนินการเรื่อยมาโดยมีผู้แทนจากสถาบันพฤกษศาสตร์ต่างประเทศ ร่วมเป็นคณะบรรณาธิการหนังสือ Flora of Thailand ได้แก่ Department of Systematic Botany, University of Aarhus และ Botanical Musium, University of Copenhagen ประเทศเดนมาร์ก Royal Botanic Garden, Edinburgh และ Royal Botanic Gardens, Kew ประเทศสหราชอาณาจักร National Herbarium, Leiden ประเทศเนเธอร์แลนด์ Museum National d'Histoire Naturelle, Paris ประเทศฝรั่งเศส Department of Botany, Trinity College, University of Dublin ประเทศไอร์แลนด์ Harvard University Herbaria ประเทศสหรัฐอเมริกา และ University of Kyoto, University of Tokyo ประเทศญี่ปุ่น คณะบรรณาธิการจากสถาบันเหล่านี้ มีหน้าที่บริหาร และ วางแผนการวิจัยพรรณไม้ไทย นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือด้านเอกสารทางวิชาการพฤกษศาสตร์ ข้อมูลเกี่ยวกับพรรณไม้ ฯลฯ และให้การสนับสนุนแหล่งทุนในการศึกษา ฝึกอบรม และวิจัยให้แก่นักพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ
โครงการ Flora of Thailand ได้ดำเนินการมาถึงปัจจุบัน มีการประชุมติดตามผลทุก 3 ปี ในการประชุมจะมีการพิจารณาปัญหาอุปสรรค ตลอดจนมอบหมายงานศึกษาทบทวนพรรณไม้วงศ์ต่าง ๆ ให้นักพฤกษศาสตร์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การประชุมจะหมุนเวียนไปตามสถาบันพฤกษศาสตร์ในประเทศของคณะบรรณาธิการ ตั้งแต่เริ่มโครงการ โดยครั้งแรกจัดที่ คิว ประเทศสหราชอาณาจักร ในปี 2508 และ การประชุมครั้งล่าสุด เป็นการจัดประชุมครั้งที่ 12 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประเทศไทย โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 ปัจจุบันโครงการได้จัดพิมพ์หนังสือ Flora of Thailand ไปแล้ว 22 ตอน เป็นพรรณไม้ประมาณร้อยละ 40 ของพรรณไม้ที่มีท่อลำเลียงของประเทศไทย ( 12th Flora of Thailand Meeting , 2545)
14. เอกสารอ้างอิง (Reference)
1. ก่องกานดา ชยามฤต (2541) คู่มือจำแนกพรรณไม้ ส่วนพฤกษศาสตร์ สำนักวิชาการป่า ไม้ หอพรรณไม้ กรมป่าไม้.
2. เต็ม สมิตินันท์ (2544) ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดย ส่วน พฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ .
3. วีระชัย ณ นคร (2537-2544) พรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1-6 สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี.
4. Gomez-Pompa A. and Plummer O. E (1993) A view of the future for floristic research : In Designs for a Glohal Plant Species Information System, edited by F.A. Bisby, Russel G.F. and Pankhurst R.J. , pp. 83-93. Oxford University Press. Oxford.
5. Grote J. P. (1996) Flora of Salaya campus of Mahidol University, Flora of Thailand meeting, Phuket, Thailand. p.26
6. LaFrankie J. V. and Bung\yavejechewin S. (1996). The Huai Kha Khaeng 50-ha permanent sample spot, Flora of Thailand meeting, Phuket, Thailand. p. 21
7. Larsen K. and Hu C. (1996) Myrsinaceae, Flora of Thailand , volume 6 part 2 p. 81-178 The foxst herbarium, Royal Forest Department , Bangkok.
8. Maxwell J. F. (1988) The regetation of Doi Sutep-Rei National Park, chiang Mai Prorince, Thailand, Tigerpaper 15 : 6-14.
9. Maxwell J. F. (1989) Botanical notes on the vascular flora of Chiang Mai Province, Thailand, Nat.Hist.Bull. Siam Soc. 37(2) : 177 -185
10. Meyer K. (1996) Distribution and Biogeography of Thai Melastomataceae, Flora of Thailand meeting, Pluket, Thailand , p.7
11. Pooma R. (1996) Burseraceae in Thailand, Flora of Thailand meeting , Phuket, Thailand. p. 32
12. Phengklai C. (1995) studies in thai Flora : Sterculiaceae in Thailand, Thai Forest Bull. (Bot) 23: 62-108
13. Plengklai C. and Niyomdham C. (1991) Flora in Peat Swamp Forest of Narathiwat, Sombun Press, Bangkok. 368 pp.
14. Smitinand T. and Kai Larsen (1970-2002) Flora of Thailand. Volume 2-7, Chutima Press, Bangkok.
15. Santisuk T. (1954-2002) Thai Forest Bulletin (Botany), Volume 1-30 , Forest Herbarium, Royal Forest Department, Bangkok.
16. Sawyer J. O. and Chermsirivathana C. (1969) A flora of Doi Suthep, Doi Pui, Chiang Mai, North Thailand, Nat. Hist. Bull. Siam Soc. 23:99-132
17. Suddee S. and Na Songkhla B (1996) Flowering plants of the Pa-Hin-Ngam Forest Park. Chaiyaphum Province: Dicotyledons, Flora of Thailand meeting, Phuket, Thailand. p. 35
18. Thammathaworn A. and Chantaranothai P. (1996) Flora of Phu Phra Bat Historical Park, Flora of Thailand meeting. Phuket, Thailand. p. 15
19. Thammathaworn S., Wara-aswapati O. and Grote P.J. (1996) survey of plants of the Suranaree University of Technology campus, Flora of Thailand meeting, Phuket, Thailand. p.33
20. Wirawan N. (1989) The Flora Malesiana symposium and workshop, Leiden. Wallaceana, 57 (September) 8-9.
15. ระเบียบวิธีวิจัย
15.1 การเก็บตัวอย่าง การเตรียมตัวอย่างพรรณไม้แห้งและการเก็บรักษา
จะออกสำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณไม้อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อให้ได้ตัวอย่าง พรรณไม้ในระยะที่มีดอกและผลให้มากที่สุด ในการเก็บตัวอย่างพืชแต่ละชนิดจะเก็บอย่างน้อย 3 ตัวอย่าง เพื่อนำ มาทำตัวอย่างแห้ง (Herbarium) และเก็บรักษาไว้อ้างอิงที่ห้องเก็บพรรณไม้ ( Herbarium Room ) สาขาวิชาชีว วิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ต่อไป
15.2 การตรวจวินิจฉัยหาชื่อพรรณไม้
ตัวอย่างพรรณไม้ที่เก็บมาจะนำมาตรวจวินิจฉัยหาชื่อให้ได้มากที่สุด โดยใช้การเปรียบเทียบกับ หนังสือพรรณไม้ต่าง ๆ ที่มีการตีพิมพ์แล้ว เช่น Flora of Thailand , Flora of Java, Flora Malesiana และอื่น ๆ การตรวจวินิจฉัยบางตัวอย่าง อาจมีความจำเป็นต้องนำไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่หอพรรณไม้ของกรมป่าไม้ หรือของมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศไทย เนื่องจากตัวอย่างพรรณไม้จำนวนหนึ่งยังไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ ถ้าบาง ตัวอย่างยังคงไม่สามารถตรวจวินิจฉัยได้อาจจะมีความจำเป็นต้องส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เช่นที่ สวน พฤกษศาสตร์คิว (Kew Botanic Garden) ประเทศอังกฤษ เพื่อให้ช่วยตรวจวินิจฉัยชื่อ มีความเป็นไปได้ว่าตัวอย่าง พรรณไม้ที่พบในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี บางตัวอย่าง อาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่เคยมีรายงานในประเทศไทย มาก่อน (new records) หรือแม้แต่เป็นชนิดใหม่ของโลก (new species)
งานสำรวจพรรณไม้นั้นนับได้ว่าเป็นงานที่ต้องใช้เวลา ท้องที่หนึ่ง ๆ ที่ต้องทำการสำรวจใช่ว่าจะเข้าไปครั้งเดียวแล้วได้พรรณไม้ครบทุกชนิด พรรณไม้ที่จะเก็บมาวิเคราะห์ จะต้องเป็นกิ่งที่มีทั้งใบ ดอกหรือผลติดอยู่ ดังนั้นการเข้าไปแต่ละครั้ง พรรณไม้บางชนิดอาจไม่ติดดอกออกผล ต้องเฝ้าติดตามคอยฤดูกาลที่ออกดอกติดผล การสำรวจพรรณไม้จึงต้องหมั่นออกสำรวจ จึงจะได้พรรณไม้จำนวนมากชนิดเท่าที่จะมากได้ วัตถุประสงค์หลักของการเก็บตัวอย่างพรรณไม้ อาจพอสรุปได้ 4 ประการ (ก่องกานดา ชยามฤต , 2541) คือ
1. เพื่อนำมาวิเคราะห์หาชื่อที่แน่นอน เพื่อให้ทราบจำนวนชนิดของพืชในท้องที่ต่าง ๆ ที่ทำการสำรวจ
2. เพื่อเก็บตัวอย่างไว้เป็นหลักฐานอ้างอิง ไว้เทียบเคียงในการตรวจวิเคราะห์หาชื่อพรรณไม้ในครั้งต่อไป
3. เพื่อเป็นการทราบถึงจำนวนประชากร ถิ่นกำเนิด และ เขตการกระจายพันธุ์ของพรรณไม้ต่าง ๆ ด้วย
4. เป็นการรวบรวมจำนวนพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยว่ามีจำนวนทั้งสิ้นกี่ชนิด
อุปกรณ์ ในการสำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณไม้ที่จำเป็นต้องใช้มีดังนี้คือ แผงอัดพรรณไม้ พร้อมด้วยเชือกรัด กระดาษอัดพรรณไม้ ซึ่งมักใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ในการประกอบอัดพรรณไม้ในแผง เพื่อกระดาษจะได้ดูดซึมความชื้นจากพรรณไม้ กรรไกรตัดกิ่งไม้ ใช้ตัดกิ่งไม้จากต้นและตกแต่งกิ่งเมื่ออัด และควรมีมีดคม ๆ ติดไปด้วยเพื่อใช้ในบางครั้ง รวมทั้งพลั่วมือซึ่งบางครั้งจำเป็นสำหรับการขุดพรรณไม้ที่ต้องการทั้งรากและหัวใต้ดินด้วย ถุงพลาสติกขนาดใหญ่สำหรับใส่พรรณไม้เมื่อเก็บจากต้นแล้วขณะเดินป่า เพื่อป้องกันพรรณไม้เหี่ยวแห้งก่อนอัดในแผง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ดินสอดำอย่างดี พร้อมสมุดบันทึก ในการบันทึกข้อความควรใช้ดินสอดำดีกว่าปากกา เพราะเวลาฝนตกเปียกน้ำจะไม่เปรอะเปื้อนหรือจางไป ส่วนสมุดบันทึก อาจทำเป็นสมุดพิเศษที่ออกแบบสำหรับการเก็บพรรณไม้โดยเฉพาะ โดยมีรายละเอียดในการบันทึกดังนี้
1. ท้องที่ที่เก็บ (Locality) โดยระบุจังหวัด อำเภอ ตำบล ท้องที่ป่า ตำแหน่ง ฯลฯ
2. ความสูงจากระดับน้ำทะเล (Altitude) ใช้เครื่องวัดความสูงจากระดับน้ำทะเลวัด ขณะที่เก็บพรรณไม้จากระดับนั้น ๆ
3. วันที่ (Date) หมายถึงวันที่ที่เก็บพรรณไม้นั้น จะทำให้ทราบถึงฤดูกาลออกดอก ออกผลของพรรณไม้นั้น ๆ ด้วย
4. ชื่อพื้นเมือง (Local nmae หรือ Vernacular) คือ ชื่อที่เรียกพรรณไม้นั้นในท้องที่นั้น ๆ โดยควรสอบถามชื่อจากชาวบ้านแถบนั้น
5. บันทึก (Note) ควรบันทึกดังต่อไปนี้
5.1 ชนิดป่า เช่นป่าดิบ ป่าผลัดใบ ป่าชายเลน ฯลฯ ขึ้นตามสันเขา หุบเขา ริมห้วย
5.2 จำนวนประชากรพืชว่ามีมากน้อยเพียงใด
5.3 ลักษณะของพรรณไม้ ตั้งแต่ลักษณะของลำต้น ใบ ดอก ผล โดยละเอียด เช่น วิสัยพืช เป็นไม้ต้น ไม้พุ่ม ไม้เลื้อย หรือ ไม้ล้มลุก บอกส่วนสูงโดยประมาณ ถ้าเป็นไม้ต้นบอกขนาดโตวัดรอบต้นที่ระดับสูงจากดิน 1.30 เมตร ไว้ด้วย ลักษณะลำต้น ตรง คด มีรากค้ำจุน ฯลฯ เปลือก บันทึกเป็นสองลักษณะ คือ เปลือกชั้นนอก สีอะไร เรียบ ขรุขระ แตกร่อง หรือ ล่อนเป็นสะเก็ด ฯลฯ เปลือกชั้นใน เมื่อสับดูสีอะไร มีกลิ่นอย่างไร มีน้ำยางหรือไม่ ถ้ามี สีอะไร ข้นหรือใส ใบ ตามปกติลักษณะของใบย่อมบ่งชัดอยู่ในตัวเองแล้ว ข้อที่ควรบันทึกก็คือ สีของใบ รวมทั้งสีของใบอ่อนและใบแก่ที่จวนจะล่วง หรือหากมีข้อสังเกตอื่นที่เมื่อใบแห้งแล้วจะมองไม่เห็นก็ให้บันทึกไว้ด้วย ดอก สีของดอก กลิ่น ดอกไม้บางชนิดไม่มีกลิ่น แต่อาจมีแมลงตอมอยู่ ก็ควรบันทึกไว้ด้วย ผล ส่วนมากผลไม้เมื่ออ่อนสีเขียว หากเป็นสีอื่นก็ควรบันทึกไว้ด้วย แต่เมื่อแก่หรือสุกจะมีสีต่างจากสีของผลอ่อน ต้องบันทึกไว้ นอกจากนั้นก็มีกลิ่น และ รส รับประทานได้หรือไม่ หรือ เป็นพิษ ประโยชน์ หากทราบว่ามีการใช้ประโยชน์จากส่วนใดส่วนหนึ่งของพรรณไม้นี้ ควรบันทึกไว้ด้วย
6. ชื่อผู้เก็บ และ หมายเลข (Collector No.) ให้ลงชื่อผู้เก็บ และ หมายเลขเรียงตามลำดับไว้ ผู้เก็บแต่ละคนใช้หมายเลขของตนติดต่อกันไป ไม่ว่าจะเดินทางไปเก็บในท้องที่ใด เช่น สมพงษ์ ธรรมถาวร 500 หรือ Paul J. Grote 600 เป็นต้น
วิธีเก็บตัวอย่างพรรณไม้
การตรวจหาชื่อพรรณไม้ (Identification) นั้นต้องอาศัยลักษณะต่างๆ ของใบ ดอก และผล เป็นหลักสำคัญ ส่วนมากตรวจจากส่วนประกอบต่างๆ ของดอก คือ จำนวนลักษณะ ขนาดของเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย รังไข่ กลีบดอก และกลีบเลี้ยง และลักษณะขนาดของผล พืชบางชนิดมีลักษณะเด่นชัด สามารถตรวจหาชื่อได้ (Identify) เพียงแต่เห็นใบ บางชนิดต้องตรวจถึงดอกด้วยแต่บางชนิดตรวจจากใบและดอกเท่านั้นยังไม่พอ ต้องอาศัยลักษณะของผลช่วยด้วยจึงจะหาชื่อได้ ดังนั้นในการเก็บตัวอย่างพรรณไม้ จึงต้องพยายามเก็บให้ได้ตัวอย่างที่สมบูรณ์ คือ มีครบทั้ง ใบ ดอก และผล เพื่อสะดวกในการตรวจหาชื่อ วิธีเก็บตัวอย่างพรรณไม้นั้น แล้วแต่ประเภทของพรรณไม้ด้วย
ประเภทไม้ต้น ไม้พุ่ม หรือ ไม้ล้มลุกบางชนิด เก็บแต่เฉพาะกิ่งที่มีดอก หรือ ผลติดกับใบ ขนาดยาวประมาณ 1 ฟุต หากช่อดอกหรือใบมีลักษณะยาวเกินหน้ากระดาษอัดก็ควรหักพับให้พอดี ไม่ต้องตัดทิ้ง เพราะจะได้ทราบขนาดที่แท้จริง ควรเก็บใบ ดอก ผล และเนื้อไม้จากต้นเดียวกัน ข้อสังเกต คือ
1. ใบ เลือกเก็บแต่ใบที่สมบูรณ์ไม่ถูกแมลงหรือสัตว์กัดทำลาย หรือใบเป็นโรคหงิกงอ ไม่ควรเก็บใบที่เกิดตามหน่อที่แตกจากตอ หรือกิ่งที่ถูกตัดไป เพราะมักจะมีขนาดสัดส่วนผิดไปจากปกติ ควรเป็นใบที่แก่จัด และเก็บมาทั้งช่อ ไม่ใช่เด็ดมาเป็นใบๆ ถ้าเป็นใบประกอบ เช่น ใบของเงาะ ลำไย ตา เสือ หรือยมหิน ฯลฯ ก็ต้องเก็บตลอดความยาวของกิ่งใบใหญ่ พร้อมทั้งใบย่อยครบทุกใบ
2. ดอก เก็บเป็นช่อ ควรเก็บให้ได้ทั้งดอกตูมและดอกบานเต็มที่แล้ว แต่ไม่ใช่ดอกที่ร่วงหล่นจากต้น และเก็บช่อดอกที่ติดกับใบด้วย
3. ผล เก็บให้ติดกับใบเช่นกัน ควรเก็บให้ได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่จัด ซึ่งติดอยู่บนต้นไม่ควรเก็บผลที่หล่นอยู่ใต้ต้น ถ้าผลเป็นผลแห้งขนาดใหญ่ เช่น ผลกะเบา นุ่น สะบ้า หรือ ผลสด เช่น มะม่วง ตังหน ก็ให้ตากแห้ง แล้วติดป้ายหมายเลขให้ตรงกับหมายเลขของผลนั้นไว้ หรืออาจใช้ดองในขวดที่ใส่แอลกอฮอล์ 70% และติดป้ายที่ขวดไว้เช่นกัน ประเภทไม้ล้มลุกต้นเล็กๆ เช่น หญ้า หรือพวกพืชชั้นต่ำอื่นๆ เช่น มอสส์ เฟิร์นต้นเล็กๆ ให้เก็บทั้งต้นทั้งรากถ้ามี
พรรณไม้ชนิดหนึ่งนั้นให้เก็บตัวอย่างประมาณ 3-8 ชิ้น แล้วแต่กรณี เก็บใส่ถุงพลาสติกเมื่อเวลาเดินสำรวจ และนำออกมาอัดในแผงอัดพรรณไม้ ถ้าเป็นไปได้ควรรีบอัด เพื่อพรรณไม้จะคงความเขียว และจัดแต่งง่าย ใบจะเรียบ แต่ถ้าไม่มีเวลาก็นำมาอัดเมื่อกลับถึงที่พักในตอนเย็นก็ได้
วิธีอัดแห้งพรรณไม้
เมื่อได้เก็บพรรณไม้โดยตัดกิ่งจากต้นที่ต้องการแล้ว ก็เขียนชื่อผู้เก็บพร้อมหมายเลขลงบนป้ายติดไว้กับพรรณไม้ และบันทึกข้อความต่างๆ ลงในสมุดบันทึก ในการอัดจะจัดเรียงตัวอย่างพรรณไม้วางลงในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ซึ่งพับเป็นคู่ๆ จัดให้ขนาดพอดี อย่าให้เกินหน้ากระดาษและแผงอัด ถ้าใหญ่เกินแผงให้หักพับบ้าง เรียงให้ใบคว่ำบ้างหงายบ้าง เพื่อจะได้เห็นลักษณะของใบทั้งสองด้านขณะแห้งแล้ว แล้วพลิกกระดาษแผ่นที่เป็นคู่นั้นปิดทับลงไป ระหว่างพรรณไม้ชนิดหนึ่งๆ นั้นให้สอดกระดาษลูกฟูกขั้นไว้เพื่อช่วยให้ความชื้นระเหยออกไปได้เร็ว เสร็จแล้ก่อนปิดแผงใช้กระดาษลูกฟูกปิดทับทั้งสองด้านและผูกมัดไว้ให้แน่น เพื่อเวลาแห้งพรรณไม้จะได้เรียบ แผงหนึ่งๆอัดพรรณไม้ได้หลายตัวอย่าง นำแผงที่อัดแล้วนี้ตากแดด โดยให้วางตั้งแผงขึ้นทางใดทางหนึ่ง อย่าวางนอนตามด้านราบ ทั้งนี้เพื่อให้ความชื้นในพรรณไม้ระเหยได้ง่าย การตากแดดพรรณไม้มักจะแห้งช้า ฉะนั้นต้องหมั่นเปิดเอากระดาษที่ชื้นออก เพื่อช่วยให้แห้งเร็วขึ้น การตากแดดและเอาใจใส่ดีประมาณ 3 วันพรรณไม้ก็จะแห้ง และมีสีสดเกือบเหมือนธรรมชาติ ถ้าในท้องที่ใด ไม่มีแสงแดด เช่น ไปตั้งที่พักในป่าดิบ หรือในฤดูฝน การทำให้พรรณไม้แห้งต้องอาศัยความร้อนจากไฟช่วย ต้องทำร้านย่างสูงจากดินประมาณ 1 เมตร หรือ ใช้ตู้อบพรรณไม้ที่ใช้ความร้อนจากไฟฟ้าที่จัดทำขึ้น การตั้งแผงก็ทำเช่นเดียวกับการตากแดด การใช้ไฟย่างต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างเสมอ เพราะไฟอาจไหม้ติดกระดาษหรือแผงพรรณไม้ไหม้เกรียมเสียหมด ต้องคอยหมั่นกลับแผง และใช้ไฟให้พอเหมาะอย่าแรงเกินไป เมื่อแห้งสนิทแล้วก็เลิกย่างได้ ถ้าไปในที่มีไฟฟ้าเข้าถึงสมควรจะเอาเตาอบพรรณไม้ชนิดเคลื่อนที่ติดไปด้วย ใช้หลอดไฟเป็นอุปกรณ์ทำความร้อน ตามวิธีนี้พรรณไม้จะแห้งเร็วมาก เป็นการทุ่นเวลาและแรงงานมาก ตัวอย่างพรรณไม้เมื่อทำให้แห้งได้ที่ดีแล้ว ก็เก็บรวบรวมเข้ากล่องที่พร้อมจะดำเนินการตรวจหาชื่อต่อไป
วิธีอาบน้ำยาพรรณไม้
พรรณไม้ที่อบหรือผึ่งแห้งเสร็จแล้วนั้น ถ้าจะเก็บไว้นานๆ เป็นเวลาหลายสิบปี ก็จะต้องนำพรรณไม้แห้งเหล่านั้น ไปอาบน้ำยากันแมลงเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วเพียงเวลาไม่เกิน 2 ปี แมลงจะกัดทำลายเสียหายหมด น้ำยาที่ใช้อาบที่นิยมใช้ และหอพรรณไม้ ใช้อยู่ในปัจจุบันมีส่วนผสมดังนี้
1. Mercuric chloride 250 มิลลิลิตร
2. Phenol 50 มิลลิลิตร
3. Alcohol 90% 10 ลิตร
วิธีอาบ เอาน้ำยาที่ผสมและคนเข้ากันดีแล้ว ใส่ลงในภาชนะที่ปากกว้างๆ เช่น กะละมัง หรืออ่างพลาสติก เป็นต้น เอาปากคีบหนีบพรรณไม้จุ่มลงในน้ำยา พยายามกดให้เปียกน้ำยาทั่วถึงกัน แช่ไว้ประมาณครึ่งนาที แล้วคีบพรรณไม้ออกวางบนการดาษหนังสือพิมพ์เดิมที่วางซ้อนอยู่บนกระดาษลูกฟูก ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนหมดพรรณไม้ที่จะอาบ แล้วแบ่งมัดเป็นแผงๆ เอาเข้าอบอีกครั้งหนึ่งจนแห้งสนิท ข้อควรระวังในการอาบน้ำยา พยายามอย่าให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายถูกน้ำยาเป็นอันขาด เวลาอาบน้ำยาควรใส่ถุงมือยาง และมีผ้ากรองอากาศหรือหน้ากากสวมป้องกันพิษ ในขณะอาบน้ำยาพรรณไม้ดอกเล็กๆ มักจะร่วงหล่น จะต้องใช้ปากคีม คีบใส่ซองกระดาษแล้วสอดไว้กับพรรณไม้ชนิดนั้นให้หมด สำหรับพรรณไม้แห้งที่จะนำเข้าเก็บในพิพิธภัณฑ์พรรณไม้ จำเป็นต้องทำการเย็บหรือประกอบพรรณไม้ติดกระดาษ
วิธีเย็บพรรณไม้
พรรณไม้ที่อาบน้ำยาและอบแห้งดีแล้ว ถ้าต้องการเก็บไว้เป็นตัวอย่างอ้างอิง จะเก็บด้วยการหุ้มกระดาษอ่อนนั้น ย่อมจะไม่สะดวกแก่การนำเข้าๆ ออกๆ ในการตรวจดูภายหลัง เพราะพรรณไม้ยิ่งเก็บไว้นานก็ยิ่งจะเปราะหักง่าย ฉะนั้นก่อนเก็บก็ต้องนำพรรณไม้มาประกอบติดกับกระดาษแข็งที่มีความหนาประมาณ 300 แกรม ขนาด 27 x 42 ซม. เสียก่อน ชิ้นพรรณไม้ที่จะเอามาประกอบติดกับกระดาษแข็ง จะต้องเลือกเอาชิ้นที่สมบูรณ์ที่สุด ให้มีพร้อมทั้งใบ ดอก หรือผล แล้ววางลงบนกระดาษแข็ง ส่วนดอกหรือผลที่ร่วงจะต้องเอาใส่ซองกระดาษติดไว้ที่กระดาษแข็งนั้นด้วย ที่มุมด้านล่างของกระดาษให้ติดป้ายแสดงรายละเอียดต่างๆ ที่จดบันทึกไว้ในขณะเก็บพรรณไม้ไว้ด้วย
การตรวจวินิจฉัยหาชื่อพรรณไม้
ตัวอย่างพรรณไม้ที่เก็บมาจะนำมาตรวจวินิจฉัยหาชื่อให้ได้มากที่สุดโดยใช้การเปรียบเทียบกับหนังสือพรรณไม้ต่าง ๆ ที่มีการตีพิมพ์แล้ว เช่น Flora of Thailand , Flora of Java, Flora Malesiana และอื่น ๆ การตรวจวินิจฉัยบางตัวอย่างอาจมีความจำเป็นต้องนำไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่หอพรรณไม้ของกรมป่าไม้ หรือของมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศไทย เนื่องจากตัวอย่างพรรณไม้จำนวนหนึ่งยังไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ ถ้าบางตัวอย่างยังคงไม่สามารถตรวจวินิจฉัยได้อาจจะมีความจำเป็นต้องส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เช่นที่ สวน พฤกษศาสตร์คิว (Kew Botanic Garden) ประเทศอังกฤษ เพื่อให้ช่วยตรวจวินิจฉัยชื่อ
การวิเคราะห์ตัวอย่างพรรณไม้
การวิเคราะห์ตัวอย่างพรรณไม้นั้น อุปกรณ์อย่างง่ายที่จำเป็นต้องมีก็คือ แว่นขยายขนาด 8 ถึง 10 เท่า มีดสำหรับใช้ผ่าตัดส่วนต่างๆ ของดอก อาจใช้ใบมีดโกนก็ได้ ปากคีบหนึ่งอัน นอกจากนี้ก็ต้องมีหนังสือคู่มือ (manual) หรือ หนังสือพรรณพฤกษชาติ (flora) โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉบับที่มีรูปวิธาน (key) อยู่ด้วย หนังสือประเภทนี้มีอยู่เป็นจำนวนมากในห้องสมุดพฤกษศาสตร์ของหอพรรณไม้ กรมป่าไม้ และ ห้องสมุดของสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนและการวิจัยด้านอนุกรมวิธานพืช (Plant Taxonomy) ตัวอย่างหนังสือ และ เอกสารที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยหาชื่อพรรณไม้ในการวิจัยนี้เช่น รายชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (เต็ม สมิตินันทน์, 2544) หนังสือ Flora of Thailand. Volume 2-7 (Smitinand and Larsen, 1970-2002) Thai Forest Bulletin (Botany). Volume 1-30 (Santisuk, 1954-2002) พรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1-6 (วีระชัย ณ นคร, 2537-2544) และ คู่มือจำแนกพรรณไม้ (ก่องกานดา ชยามฤต, 2541) เป็นต้น
ขั้นตอนการวิเคราะห์พรรณไม้ (ก่องกานดา ชยามฤต, 2541)
1. ระดับวงศ์
ขั้นแรก จะต้องแยกพืชชั้นต่ำ ในที่นี้จะกล่าวถึงพวกเฟิร์น (Pteridophytes) หรือพวกที่เกี่ยวข้องกับเฟิร์น (Fern allied) ออกจากพืชชั้นสูงคือพวกมีเมล็ด (Spermatophytes) ให้ได้เสียก่อน พืชพวกเฟิร์นซึ่งเป็นพืชชั้นต่ำนี้จะไม่มีดอกแต่มีสปอร์ เฟิร์นสังเกตได้ง่ายโดยดูลักษณะของใบ ส่วนวงศ์พืชที่เกี่ยวข้องกับเฟิร์น คือ วงศ์ Selaginellaceae และ Lycopodiaceae (ทั้งสองวงศ์นี้บางครั้งคล้ายกับพวกมอสส์ขนาดใหญ่) Isoetaceae (คล้ายพวกหญ้า) Psilotaceae และ Equisetaceae (horsetails) พวกที่เกี่ยวข้องกับเฟิร์นมีไม่มากชนิด และเมื่อเราได้เจอครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะจดจำได้ง่ายขึ้น
ขั้นที่สอง คือ การสังเกตพวกพืชเมล็ดเปลือย (gymnosperms) ถึงแม้พืชเมล็ดเปลือย gymnosperms จะให้เมล็ด แต่พวกนี้จะไม่มีดอกที่แท้จริง ไข่อ่อนจะไม่มีอะไรห่อหุ้ม (นั่นคือจะไม่อยู่ในรังไข่) โดยทั่วไปอับสปอร์และไข่อ่อนจะเกิดอยู่ใน strobili หรือโครงสร้างที่คล้ายโคน (cone) พืชเมล็ดเปลือยมี orders ต่างๆ ดังนี้คือ Cycadales Ginkgoales Coniferae และ Gnetales (ยกเว้นวงศ์ Gnetaceae ซึ่งมีลักษณะคล้ายพืชใบเลี้ยงคู่) เมื่อได้เห็นครั้งหนึ่งแล้วจะจำได้ง่ายขึ้น
ส่วนพืชดอก (Angiosperms) นั้นในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 280 วงศ์ โดยมีตั้งแต่วงศ์ที่มีพืชชนิดเดียว (monotypic families) จนถึงพืชวงศ์ใหญ่ๆ ที่มีสมาชิก 100 กว่าสกุล จำนวน 400-600 ชนิด พืชวงศ์เล็กๆ ส่วนมากแล้วจะมีเขตการกระจายพันธุ์แคบๆ และจะจำได้ต่อเมื่อผู้ที่สนใจศึกษาพืชในเขตนั้นๆ
ถ้าเราเริ่มต้นจำลักษณะวงศ์พืชที่เราพบบ่อยๆ จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด พืชในวงศ์เหล่านี้บางทีจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ส่วนพืชหลายวงศ์ที่มีการแพร่กระจายกว้างขวางพบอยู่ในทุกๆ ท้องที่ บางพื้นที่พืชนี้ต้องอาศัยประสบการณ์และการจดจำลักษณะเฉพาะประจำวงศ์พืชนั้นๆ ในพืชดอก (angiosperms) สิ่งแรกที่จะต้องแยกให้ออก คือข้อแตกต่างระหว่างพืชใบเลี้ยงคู่ (Dicotyledons) และพืชในเลี้ยงเดี่ยว (Monocotyledons) ลักษณะใหญ่ๆ ที่พอสังเกตได้มีดังนี้
พืชใบเลี้ยงคู่
พืชใบเลี้ยงเดี่ยว
1. ไม้เนื้อแข็ง
2. ใบโดยทั่วไปมีเส้นใบเป็นร่างแห (netted vein) ขอบเรียบหรือหยัก มักมีก้านใบ หายากที่ก้านใบเป็นกาบมักจะมีหูใบ
3. ดอกมีส่วนต่างๆ 4 หรือ 5 หรือทวีคูณของ 4 หรือ 5
4. ต้นอ่อนมีใบเลี้ยง 2 ใบ
1. ไม้เนื้ออ่อน บางครั้งพบเป็นไม้ต้นได้แก่ พวกปาล์มและกล้วย
2. ใบโดยทั่วไปมีเส้นใบเรียงแบบขนาน ขอบเรียบหายากที่มีก้านใบ ก้านใบมักจะแผ่ออกเป็นกาบหุ้มลำตัน ไม่มีหูใบ
3. ดอกมีส่วนต่างๆเป็น 3 หรือทวีคูณของ 3
4. ต้นอ่อนมีใบเลี้ยง 1 ใบ


เมื่อตัวอย่างที่มี แยกออกได้แล้วว่าเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ หรือใบเลี้ยงเดี่ยว ต่อไปก็ให้พิจารณาลักษณะต่างๆ เหล่านี้คือ
1. ดูว่าเป็นใบเดี่ยว หรือ ใบประกอบ ถ้าใบประกอบ เป็นใบประกอบชนิดใด
  1.1 ใบติดแบบใด ตรงข้าม หรือเรียงสลับ
  1.2 ขอบใบเรียบ หรือหยัก
  1.3 มีหูใบหรือ ไม่
2. ดูว่าดอกออกที่ใด และ แบบใด
  2.1 ดอกเป็นแบบสมมาตรตามรัศมี (actinmorphic) หรือสมมาตรด้านข้าง (zygomorphic)
  2.2 กลีบดอกแยก หรือ เชื่อมติดกัน
  2.3 ส่วนต่างๆ ของดอกนี้มีจำนวนเท่าใด และเรียงแบบใดทั้งกลีบเลี้ยง กลีบดอก
  2.4 ตรวจดูเกสรเพศเมีย (gynoecium) นับจำนวนเกสรเพศเมีย (pistils) ก้านเกสรเพศเมีย (styles) และยอดเกสรเพศเมีย (stigmas)
  2.5 ผ่าดอกออกตามยาวตามแกนกลางของดอก ดูตำแหน่งที่ตั้งของรังไข่ (ovary) ว่าเป็นชนิดติดเหนือวงกลีบ (superior) ติดใต้วงกลีบ (inferior) หรือ ติดกึ่งใต้วงกลีบ (half - inferior)
  2.6 ดึงกลีบดอก เกสรเพศผู้ออกให้หมด แล้วตัดรังไข่ตามขวาง ตรวจนับจำนวนช่องในรังไข่ และจำนวนคร่าวๆ ของไข่อ่อน (ovules) แล้วดูว่า placenta เป็นแบบใด marginal, axile, parietal หรือ free-central placentation บางทีไข่อ่อนจะมีเพียงเมล็ดเดียว หรืออาจมีสองสามเมล็ด ในกรณีนี้ก็ให้วินิจฉัยว่า placenta จะเป็น basal หรือ pendulous
3. ผลเป็นแบบใด
 ลักษณะต่างๆ ที่เหมือนกันหรือต่างกันของพืชเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในวงศ์พืชต่างๆกัน จะทำให้วิเคราะห์พืชสู่กลุ่มวงศ์ได้ เช่น ถ้าตัวอย่างพืชที่มีอยู่เป็นพืชใบเดี่ยว ติดตรงข้าม ขอบใบเรียบ มีหูใบ ดอกสมมาตรตามรัศมี กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ รังไข่ติดใต้วงกลีบ พืชนั้นอาจจะเป็นสมาชิกอยู่ในวงศ์ Rubiaceae หรือถ้าพืชมีใบเดี่ยว ติดตรงข้าม ขอบใบหยักเป็นคลื่น ไม่มีหูใบ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็น 2 ปาก รังไข่ติดเหนือวงกลีบ พืชนั้นอาจอยู่ในวงศ์ Labiatae, Acanthaceae, Gesneriaceae หรือ Scrophulariaceae หลังจากนี้จะต้องตรวจดูลักษณะอื่นๆ เพื่อจำแนกพืชต่อไป
2. ระดับสกุล
ถ้าเป็นพืชสกุลที่เราไม่รู้จัก การวิเคราะห์จะค่อนข้างยาก ซึ่งเป็นเรื่องจริงในพืชวงศ์ใหญ่ๆ เช่น Compositae, Orchidaceae, หรือ Leguminosae ซึ่งพืชวงศ์เหล่านี้ ผู้ที่จะจำสกุลของพืชได้จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวงศ์ ถ้าเราจะได้รู้จักสกุลหลักๆ ของพืชในวงศ์ต่างๆ ในแถบภูมิภาคของเราไว้ก็จะเป็นการดี โดยเฉพาะสกุลที่เป็นไม้เดิมอยู่ในสังคมพืชแถบบ้านเรา ซึ่งลักษณะของสกุลเหล่านี้เราจะต้องศึกษา ไว้เพื่อการจดจำพืชสกุลนั้นๆ เช่น พืชสกุลยาง Dipterocarpus, พะยอม Shorea, ก่อ Lithocarpus, Castanopsis และ Quercus ฯลฯ พืชสกุลที่เราไม่รู้จักสามารถวิเคราะห์ได้โดยใช้คู่มือหรือหนังสือ Flora of Thailand นอกจากนี้ยังดูได้จากบัญชีรายชื่อพืช (Check - List) ของพืชเฉพาะถิ่น ถ้าไม่มีคู่มือเลยสามารถทำได้ แต่ต้องใช้เวลามาก โดยไปดูตัวอย่างในหอพรรณไม้ ให้ดูรายชื่อสกุลในแต่ละวงศ์ และดูท้องถิ่นของพืชควบคู่ไปด้วย เมื่อเราได้ตรวจดูแล้ว เราจะได้รายชื่อพืชที่ขึ้นอยู่ในท้องถิ่นที่เราสำรวจซึ่งจะใช้ในการจำแนกพืชและสามารถใช้ไปได้เรื่อยๆ แต่เราควรจะตรวจสอบกับเอกสารอ้างอิงด้วย เพราะบางสกุลอาจจะไม่มีตัวอย่างเก็บไว้ในหอพรรณไม้ หรือได้รวมไว้ในสกุลอื่น หรือแยกเป็นสกุลใหม่ไปแล้ว หลังจากนั้นจึงนำพืชที่สงสัยไปเทียบกับตัวอย่างพืชที่มีชื่ออยู่ในหอพรรณไม้ต่อไป ดังนั้นเราจึงควรจดจำลักษณะประจำวงศ์ของพืชไว้ โดยเฉพาะพืชวงศ์ใหญ่ๆ เราต้องพยายามจำลักษณะที่ใช้แยกกลุ่มพืชเป็นวงศ์ย่อย (sub-families) หรือเป็นเผ่า (tribe) ซึ่งจะทำให้เราตัดจำนวนสกุลที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป แต่ถ้าเป็นพืชที่เรารู้ถิ่นกำเนิดเราสามารถตรงไปใช้ Key ในหนังสือ Flora ประจำถิ่นได้เลย
3. ระดับชนิด
การวิเคราะห์พืชสู่ชนิดนั้นก็เช่นเดียวกันกับการวิเคราะห์ขั้นวงศ์และสกุล โดยการจดจำชนิดพืช หรือวิเคราะห์โดยการเปรียบเทียบกับตัวอย่างพืชที่มีชื่อแล้วในหอพรรณไม้ หรือโดยการใช้รูปวิธาน (Key) ถ้าจะต้องใช้เอกสารอ้างอิง ก็จำเป็นจะต้องรู้ว่าเอกสารใดที่เกี่ยวข้องกับพืชกลุ่มของเรา เอกสารพวกนี้ได้แก่ พวก Monograph, Revision หรือถ้าในภูมิภาคก็จะออกมาในรูปของ Flora หรือ Checklists
การใช้รูปวิธาน
รูปวิธานที่ใช้ในการวิเคราะห์พรรณไม้นั้นก็คือ การจัดลำดับลักษณะต่างๆ ของพันธุ์ไม้ที่แตกต่างกันไว้ให้เป็นระเบียบ โดยคัดเอาลักษณะที่ไม่มีในพรรณไม้ที่ต้องการวิเคราะห์นั้นออกไปคงเหลือแต่ลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในพรรณไม้ที่กำลังวิเคราะห์อยู่นั้น ซึ่งก็จะได้ผลลัพธ์ในขั้นสุดท้าย รูปวิธานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เรียกว่า รูปวิธานแบบ dichotomous (dichotomous key) คือใช้ลักษณะที่ผิดแผกแตกต่างกันเทียบเป็นคู่ๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1. กลีบเลี้ยง (sepals) และกลีบดอก (petals) มีจำนวน 4
  2. เกสรเพศผู้มีจำนวน 4,6 หรือกว่านั้น รังไข่มีช่องเดียว
placeta แบบ parietal กลีบดอกค่อนข้าง zygomorphic ...................................Capparaceae
  2. เกสรเพศผู้มีจำนวน 6, tetradynamous, รังไข่มีผนังกั้นออกเป็น 2 ช่อง,
กลีบดอก atinomorphic .........................................................................Cruciferae
1. กลีบเลี้ยง (sepals) และกลีบดอก (petals) มีจำนวน 5 เกสรเพศผู้มีจำนวน 5
เรียงสลับกันกับ staminodes ที่เรียวยาว จำนวน 3 ถึง 5 อัน รังไข่มีช่องเดียว
มี placenta แบบ parietal ดอก zygomorphic...............................................Moringaceae

หากไม่ใช้หมายเลขนำหน้าคู่ที่แตกต่างกันตามตัวอย่างนี้ อาจจะใช้อักษรแทนก็ได้ เช่น A,B หรือ ก. ข. ก็ได้ ตามตัวอย่างที่ได้ให้ไว้นี้จะเห็นได้ว่ารูปวิธานนี้มี 2 คู่ด้วยกัน แต่ละคู่จะมีข้อชี้ลักษณะแตกต่างกัน ข้อชี้หนึ่งเป็นลักษณะหนึ่ง อีกข้อหนึ่งเป็นลักษณะที่แย้งกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าข้อที่ 1 ของคู่แรกถูกกับลักษณะตัวอย่างพืชที่กำลังวิเคราะห์อยู่นั้น ก็จงพิจารณาดูต่อไปอีกว่า ข้อชี้ที่หนึ่งหรือสองของคู่ที่สองนั้นจะตรงกันกับพืชที่กำลังศึกษาอยู่หรือไม่ เมื่อได้ใช้รูปวิธานดังนี้แล้ว ก็จะจำแนกพืชนั้นๆ เข้าวงศ์ (family) สกุล (genus) หรือชนิด (species) ได้ในที่สุด
โดยทั่วๆไปแล้ว ในตำรานั้นจะมีรูปวิธานของ orders ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ ต่อมาก็จะมีรูปวิธานของวงศ์ต่างๆ แต่ละวงศ์ก็มีรูปวิธานของสกุลต่างๆ และสกุลต่างๆ นั้นก็จะมีรูปวิธานของชนิด ต่อไป
ในทางปฏิบัติแล้วการวิเคราะห์ชื่อพรรณพืชโดยใช้รูปวิธานจนกระทั่งได้ชื่อพืชแล้วยังไม่เป็นการยุติ จำเป็นต้องนำพรรณพืชนั้นๆ ไปเทียบเคียงกับลักษณะรูปพรรณของตัวอย่างพืชนั้นๆที่มีชื่ออยู่แล้วในหอพรรณไม้ เพื่อความแน่นอนอีกชั้นหนึ่งก่อน ถ้าปรากฏว่ารูปพรรณของพืชที่เราวิเคราะห์ได้มีลักษณะผิดเพี้ยนไปจากลักษณะรูปพรรณของตัวอย่างพืชในหอพรรณไม้ ก็ถือได้ว่าการวิเคราะห์นั้นไม่ถูกต้อง ต้องนำไปวิเคราะห์กันใหม่

15.3 การจัดเก็บข้อมูลและทำฐานข้อมูล และ เว็บไซต์
ข้อมูลต่าง ๆ จะเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรม MS Excel และ MS Access ตามความเหมาะสม ข้อมูลภาพจากตัวอย่างสดจะเก็บไว้ในรูปของภาพสี โดยบางส่วนจะถ่ายโอนไปเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์
การเขียนคำบรรยายลักษณะของพืชแต่ละชนิด ( Descriptions of the species ) จะยึดหลักการ และ รูปแบบตามที่ใช้ใน พรรณไม้ประเทศไทย ( Flora of Thailand )
ข้อมูลทั้งภาพพรรณไม้ และ คำบรรยายลักษณะ จะนำไปเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อสะดวกต่อการแลกเปลี่ยน และ เผยแพร่ โดยจัดทำเป็น เว็บเพจ

16. ขอบเขตของการวิจัย
การวิจัยนี้ต้องการที่จะสำรวจเก็บรวบรวมพรรณไม้มีดอก (Angiosperms) ที่มีอยู่ในธรรมชาติทั้งหมดใน เขตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีขณะนี้ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 7,000 ไร่ ให้ได้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะรวมพืชมีท่อลำเลียงอื่นอีก 2 กลุ่ม คือ ปรง (cycads) และเฟรินส์ (ferns) ด้วย
หลังจากการปรึกษาระหว่างผู้ร่วมวิจัยและพิจารณาร่วมกันแล้ว ได้ตกลงแบ่งพื้นที่ทั้งหมดของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีออกเป็น 8 เขต หรือ บริเวณ ( Zone ) โดยพยายามใช้เขตที่ทางมหาวิทยาลัยใช้อยู่ ให้มากที่สุด แต่รวมบางเขต และ แยกบางเขตออกเป็นหลายเขตเพื่อความเหมาะสมต่อการศึกษามากขึ้น โดยยึด แนวถนนที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นหลักในการแบ่งเขต ดังนี้ ( ดูแผนผัง ประกอบ )
1. เขตที่พักนักศึกษา ( Student Residential Zone )
2. เขตฟาร์ม มทส. ( University Farm Zone )
3. เขตที่พักบุคลากรและเขตสันทนาการ ( Staff Residential and Recreation Zone )
4. เขตอาคารทำการและสำนักงาน ( Academic Zone )
5. เขตเทคโนธานี ( Technopolis Zone )
6. เขตพื้นที่สีเขียวและเผื่อขยายในอนาคต ( Green and Reservation Zone )
7. เขตป่าอนุรักษ์ ( Plant Conservation Zone )
8. เขตไม้เศรฐกิจ ( Economic Tree Zone )
สำหรับผลการศึกษาภาคภาษาไทยเป็นผลงานของ อาจารย์ สนอง จอมเกาะ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ขณะนี้เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก อยู่ที่สาขาวิชาชีววิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทำการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของวิชาปัญหาพิเศษ โดยศึกษา เฉพาะพืชในเขตที่ 4 เขตอาคารทำการและสำนักงาน และแบ่งออกเป็น 8 เขตย่อย( ดูแผนผัง ประกอบ )
สภาพแวดล้อมทางกายภาพ เขตอาคารทำการและสำนักงาน เป็นพื้นที่บริเวณตอนกลางของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ลักษณะพื้นที่เป็นป่าเต็งรังผสมป่าหนาม กำลังฟื้นสภาพตามธรรม ชาติ สภาพพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 235-255 เมตร มีความลาดชัน 1-3 % พื้นที่มี ความสูงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพื้นที่ ลาดเอียงไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลักษณะ ดินเป็นดินลูกรังสีแดงแกมขาวหรือเหลือง จนถึงดินทรายปนเหนียว พื้นที่ดั้งเดิมถูกปรับสภาพให้ลด ความลาดชัน ปรับระดับให้เหมาะกับบริเวณก่อสร้างอาคารทำการและสำนักงาน มีการตัดถนนเพื่อ การสัญจร จัดวางระบบระบายน้ำฝนให้ไหลไปลงอ่างสุระ 2 ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่
สภาพภูมิอากาศ จัดเป็นเขตฝนและร้อนเฉพาะฤดู ฤดูกาลแบ่งเป็น 3 ฤดูกาลได้ชัดเจนคือ
ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน และฤดูหนาว ตั้งแต่ เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,070.5 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 26.7 oC ความชื้นสัมพัทธ์โดยเฉลี่ย 71.7 %
ธรรมชาติของป่าในพื้นที่ ลักษณะของป่าในพื้นที่ศึกษาจัดเป็นป่าเต็งรัง(dry dipterocarp forest) ผสมป่าหนาม (thorn forest) ประกอบด้วยพืชประเภทผลัดใบในระยะแห้งแล้งช่วงกลางฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนหรือประมาณ เดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน ในช่วงเวลาดังกล่าวพืชส่วนใหญ่จะทิ้งใบ พืชพื้นล่างที่เป็นพืชล้มลุก จะแห้งตาย ระยะเวลานี้ป่ามีโอกาสเกิดไฟป่าได้ง่าย เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนพืชจะเริ่มผลิใบใหม่ พืชหลาย ชนิดจะมีการออกดอก เช่น ติ้วขน ตะแบก พลองเหมือด พฤกษ์และประดู่เป็นต้น เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนพืชจะเจริญอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะไม้ล้มลุกและไม้เถาวัลย์ ประกอบกับพืช ยืนต้นมีใบเขียวชะอุ่ม สภาพป่าในฤดูฝนจึงมีสภาพรกชัฏ พื้นล่างจะมีหญ้าคา หญ้าพุ่งชู้ โจดและไม้ ล้มลุกต่างๆ ไม้เถาวัลย์และไม้รอเลื้อย ปีนป่ายขึ้นต้นไม้ข้างเคียงได้แก่ หนามตะหนิน เถาวัลย์เปรียง เครือหุน ชิงช้าชาลีและส้มลมเป็นต้น
( ดูภาพเปรียบเทียบเขตย่อยที่ 4 )
( ดูภาพเปรียบเทียบเขตย่อยที่ 5 )
( ดูภาพเปรียบเทียบเขตย่อยที่ 7)
( ดูภาพเปรียบเทียบเขตย่อยที่ 8)
ป่าในเขตอาคารทำการและสำนักงานนี้ ในแนวเขตริมถนนหรือทางเท้า มหาวิทยาลัยได้แผ้ว ถางหญ้าและพืชพื้นล่างอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ คงเว้นไว้เพียงไม้ยืนต้นและไม้พุ่มเท่านั้น ทำให้ดูโล่ง เรียบร้อยสวยงามแต่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าโดยรวมไปบ้าง
17. ระยะเวลาที่ทำการวิจัย :
4 ปี (ตุลาคม 2540 - กันยายน 2544)
19. สถานที่ทำการวิจัย และเก็บข้อมูล
การวิจัยส่วนใหญ่จะใช้ห้องวิจัยและห้องปฏิบัติการชีววิทยาพืชในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ยกเว้น การวินิจฉัยตัวอย่างบางส่วนที่อาจจะต้องเดินทางไปเปรียบเทียบที่หอพรรณไม้ของ กรมป่าไม้ ในกรุงเทพฯ หรือที่ ห้องเก็บตัวอย่างพรรณไม้ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย บางตัวอย่างอาจจะต้องส่งไปตรวจวินิจฉัยยัง ต่างประเทศ
การเก็บข้อมูลทั้งหมดจะเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของคณะผู้วิจัยและของสาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีสุรนารี
20. อุปกรณ์ในการวิจัย
20.1 อุปกรณ์การวิจัยที่มีอยู่แล้ว
- กล้องถ่ายรูป - กล้องจุลทรรศน์เลนส์ประกอบ และกล้องจุลทรรศน์สามมิติพร้อมชุดถ่ายภาพ - ตู้เก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้ง และตู้แช่แข็ง (Freezer) - กรรไกรตัดกิ่งไม้ แผงอัดพรรณไม้แห้ง - ไมโครคอมพิวเตอร์ พร้อมเครื่องพิมพ์ - หนังสือ Flora of Thailand , Flora of Java และ Flora Malesiana บางส่วน
20.2 อุปกรณ์การวิจัยที่ต้องการเพิ่ม
- หนังสือ Flora of Java , Flora Malesiana และ Flora อื่น ๆ เพิ่มเติม
21. ผลการศึกษา
21.1 จากการสำรวจ และ เก็บตัวอย่างพรรณไม้ในบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ระหว่าง ปี พ.ศ. 2541-2545 พบว่ามีพรรณไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมากกว่า 400 ชนิด ( species ) ในจำนวนนี้ ได้ตรวจสอบชื่อไปแล้ว จำนวน 383 ชนิด โดย เป็นพวก ปรง 1 ชนิด เป็นพืชมีดอกพวกใบเลี้ยงคู่ 308 ชนิด พืชมีดอกพวกใบเลี้ยงเดี่ยว 74 ชนิด และ พืชส่วนใหญ่จะสามารถตรวจสอบชื่อไปถึงระดับชื่อชนิด ( Species ) แล้ว มีเพียงบางตัวอย่าง ที่สามารถตรวจสอบได้ถึงระดับชื่อสกุล (Genus) เท่านั้น ในจำนวนนี้พบว่าพืชวงศ์ (Family) ที่พบมากที่สุดคือ พืชวงศ์ถั่ว (LEGUMINOSAE) ถึง 68 ชนิด รองลงมาเป็น พืชวงศ์ หญ้า (GRAMINEAE) 40 ชนิด ได้จัดเก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ( Herbarium ) ไว้ที่ห้องเก็บพรรณไม้แห้ง ของสาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และเก็บข้อมูลไว้ในระบบฐานข้อมูลของ Excel file และ Access file.
21.2 ตัวอย่างพรรณไม้ ที่มีการเก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้ง พร้อมการตรวจวินิจฉัยชื่อ ถ่ายรูป และ เขียนคำบรรยายลักษณะ ( Descriptions ) เสร็จเรียบร้อยแล้ว จำนวน 178 ชนิด กับอีก 19 ชนิดที่ตรวจสอบวินิจฉัยชื่อแล้วแต่ยังไม่ได้เขียนคำบรรยายลักษณะอย่างละเอียด รวมเป็น 197 ชนิด คาดว่ามีพรรณไม้ที่อาจจะเป็นชนิดพบใหม่ในประเทศไทย ( new records in Thailand ) ตัวอย่างเช่น ชนิดหนึ่งของ Bauhinia (Leguminosae), Curcuma sp. (Zingiberaceae) , Murdannia (Commelinaceae) . พืชบางชนิดเป็นพืชที่มีรายงานการ พบในประเทศไทยน้อยมาก เช่น Typhonium inopinatum (Araceae) เคยมีรายงานว่าเคยพบที่จังหวัดกาณจน บุรีเพียงแห่งเดียว ในประเทศไทย พืช Pterocaulon redolens (Asteraceae) มีตัวอย่างเก็บไว้ที่หอพรรณไม้ ของกรมป่าไม้ (BKF) เมื่อ 70 ปีก่อน เพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น พืช Cassine glauca (Celastraceae) มีตัว อย่างที่เก็บไว้ที่หอพรรณไม้ของกรมป่าไม้ เพียง 2 ตัวอย่างเท่านั้น และ เป็นตัวอย่างที่เก็บจากประเทศอินเดีย ยังไม่เคยมีตัวอย่างที่พบและเก็บจากในประเทศไทย ดังนั้นจะเห็นว่า งานจากโครงการวิจัยพรรณไม้ใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นี้ มีความสำคัญมาก ที่อาจจะทำให้มีการค้นพบพืชชนิดใหม่ของประเทศไทย หรือ ชนิดใหม่ของโลก ก็อาจจะเป็นไปได้
21.3 เนื่องจากยังมีพืชอีกประมาณ ร้อยละ 50 ที่พบในบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ยังไม่มีการตรวจสอบชื่อ และเขียนคำบรรยายลักษณะ ( Descriptions ) จึงสมควรที่จะสนับสนุนให้มีผู้ทำงานนี้ต่อไป รวมทั้งการปรับปรุงเพิ่มเติมข้อมูลในเว็บไซต์ Web site http://flora.sut.ac.th เพื่อเป็นสื่อกลางในเรื่องนี้ต่อไปบนอินเทอร์เนต