SURANAREE UNIVERSITY OF TECHNOLOGY
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญและปัญหาของการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของประเทศไทยให้ได้ระดับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
ในการนี้พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณและประทานเงินส่วนพระองค์ให้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนาวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ทั้งทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิในขณะนั้นด้วย ซึ่งต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ประธานมูลนิธิ สอวน. ในการสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทรงมีมติว่ามูลนิธิฯ ได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนานักเรียนไทยให้ประสบผลสำเร็จในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการแล้ว
จึงควรนำกระบวนการที่สร้างความสำเร็จดังกล่าวไปขยายผลให้กับครูเพื่อเป็นการพัฒนา มาตรฐานการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ของประเทศให้ได้ระดับมาตรฐานสากลต่อไปด้วย
มูลนิธิ สอวน. จึงได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสนองพระราชดำริ อันประกอบด้วย การส่งเสริมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศที่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ ได้รับการพัฒนาศักยภาพตามความถนัดและความสนใจอย่างเต็มที่
ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติให้สามารถคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ และมีความสามารถพร้อมที่จะเข้าระบบการคัดเลือกไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศให้ได้ผลดียิ่งขึ้น รวมทั้งการนำประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศมาพัฒนามาตรฐานคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ศึกษาของประเทศให้สูงทัดเทียมระดับสากล
ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพและการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพของครูผู้สอนทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับโรงเรียน และการขยายผลออกไปในวงกว้าง โดยมูลนิธิ สอวน. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(สพฐ.) ได้ร่วมมือกันในการขยายผลจากการดำเนินการของ สอวน. ไปสู่ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศจำนวน 36 โรงเรียน สำหรับการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติเป็นหนึ่งในโครงการที่ทางมูลนิธิ สอวน. ได้ดำเนินการร่วมกับศูนย์ สอวน. ทั้ง
13 ศูนย์ทั่วประเทศ ในการเตรียมความพร้อมของนักเรียนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับนานาชาติ สำหรับในปีพุทธศักราช 2566 นี้
ศูนย์ชีววิทยาโอลิมปิก สอวน. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพร่วมกับมูลนิธิ สอวน. ในการดำเนินการจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20 (The 20th Thailand Biology Olympiad
– 20th TBO) ระหว่างวันที่ 3 – 7 เมษายน พ.ศ. 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยจะจัดการแข่งขันและคัดเลือกนักเรียนที่ผ่านการอบรมจาก สอวน. ค่าย 2 จำนวนทั้งสิ้น 100 คน ซึ่งประกอบด้วย นักเรียนตัวแทนจากศูนย์
สอวน. 13 ศูนย์ และนักเรียนโควตาจาก สสวท. นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ได้แก่ คณาจารย์ผู้แทนจากศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 ศูนย์ (หัวหน้าทีม รองหัวหน้าทีม และผู้ช่วยหัวหน้าทีม) จำนวน 45 คน ครูสังเกตการณ์จาก
สพฐ. จำนวน 5 คน คณะกรรมการจากมูลนิธิ สอวน. สสวท. และ สพฐ. นักศึกษาพี่เลี้ยง คณะกรรมการดำเนินงานจากศูนย์เจ้าภาพ และผู้สังเกตการณ์จากศูนย์เจ้าภาพในปีถัดไป รวมจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นประมาณ 230 คน
ทั้งนี้ในการดำเนินการแข่งขัน จะใช้ข้อสอบมาตรฐานที่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากมูลินิธิ สอวน. คณะกรรมการวิชาการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และคณาจารย์ผู้แทนศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 ศูนย์ นอกจากนี้ผลคะแนนจากการแข่งขันก็ได้รับการพิจารณาจากคณาจารย์ผู้แทนของทุกศูนย์
สอวน. เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและโปร่งใส เกณฑ์คะแนนที่ผ่านมาตรฐานจะถูกพิจารณาจำแนกเป็น 3 ระดับ คือ เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง นอกจากนี้ยังมีระดับเกียรติบัตรพิเศษ 7 รางวัล สำหรับคะแนนรวมสูงสุด คะแนนภาคทฤษฎีสูงสุด คะแนนภาคปฏิบัติการสูงสุด
คะแนนรวมสูงสุดประจำภาคเหนือ คะแนนรวมสูงสุดประจำภาคใต้ คะแนนรวมสูงสุดประจำภาคกลาง และคะแนนรวมสูงสุดประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้สำหรับนักเรียนผู้มีคะแนนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับสิทธิ์ในการเข้าอบรมกับค่ายของสสวท. เพื่อคัดเลือกเป็นนักเรียนตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับนานาชาติต่อไป
1. เพื่อสอบวัดความสามารถทางชีววิทยาของนักเรียนผู้แทนศูนย์ สอวน. ทั้งประเทศ และคัดเลือกนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์พิจารณาเพื่อ เข้าร่วมการอบรมกับค่าย สสวท. สำหรับการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับนานาชาติต่อไป
2. เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความสามารถและพัฒนาศักยภาพของตนเองทางศาสตร์ชีววิทยา ตลอดจนการส่งเสริมการสร้าง เครือข่ายของนักเรียนค่ายชีววิทยาโอลิมปิกจากศูนย์ สอวน.
ทั่วประเทศ
3. เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางชีววิทยา การสร้างความสัมพันธ์อันดี การสร้างเครือข่ายของคณาจารย์จากศูนย์ สอวน. และโรงเรียนคู่ศูนย์ อันจะนำไปสู่การขยายผลในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนทางชีววิทยา
และการการเผยแพร่ความรู้ทาง ชีววิทยาให้กับนักเรียน
การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20
ประจำปี พ.ศ. 2566
> ที่พักสำหรับอาจารย์
สุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
> ที่พักสำหรับนักเรียน
โรงแรมโคราช รีสอร์ท
เครื่องบิน : ศูนย์เจ้าภาพ จะมีบริการรถรับส่งระหว่าง สนามบินดอนเมือง - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
รถไฟ : ศูนย์เจ้าภาพ จะมีบริการรถรับส่งระหว่าง สถานีรถไฟนครราชสีมา(หัวรถไฟ)
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
รถตู้เช่า : เนื่องจากมีการจำกัดด้านงบประมาณ กรณีเดินทางโดยรถตู้เช่ารายวัน ศูนย์เจ้าภาพขอเสนอแนวทาง ดังนี้
>> ขอให้ ศูนย์ สอวน. จ้างรถตู้จ้างเหมารายวันเฉพาะวันเดินทางมาที่ศูนย์เจ้าภาพ และวันที่เดินทางกลับถึงศูนย์ สอวน. (รวม 2 วัน) เท่านั้น
โดยระหว่างงานศูนย์เจ้าภาพจะมีบริการรถรับ-ส่งจัดไว้บริการ
รถตู้ประจำศูนย์ สอวน. : เนื่องจากมีการจำกัดด้านงบประมาณ กรณีเดินทางโดยรถตู้ประจำศูนย์ สอวน. ศูนย์เจ้าภาพขอเสนอแนวทาง ดังนี้
>> ขอให้ ศูนย์ สอวน. ใช้รถตู้ประจำศูนย์ สอวน. เฉพาะวันเดินทางมาที่ศูนย์เจ้าภาพ และวันที่เดินทางกลับถึงศูนย์ สอวน.(รวม 2 วัน) เท่านั้น
โดยระหว่างงานศูนย์เจ้าภาพจะมีบริการรถรับ-ส่งจัดไว้บริการ
รถโดยสารประจำทาง : ศูนย์เจ้าภาพ มีบริการรถรับส่งระหว่าง บขส.นครราชสีมา แห่งที่ 2 - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
Made with
Offline Website Creator